ปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ (Cruise) มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้แต่ละท่าเทียบเรือมีข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น หากโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญเปิดให้บริการจะเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยในอนาคต
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่า (จท.) มีแผนพัฒนาโครงการท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการแล้วเสร็จ เบื้องต้นโครงการดังกล่าวจะครอบคลุมเส้นทางการเดินเรือฝั่งอ่าวไทยรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีและท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ส่วนฝั่งอันดามันรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ตและจังหวัดกระบี่
ขณะเดียวกับพบว่าในปัจจุบันจังหวัดชลบุรีมีปริมาณเรือโดยสารท่องเที่ยวจอดประมาณ 149 เที่ยวต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่าย 7,000 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปริมาณเรือโดยสารท่องเที่ยวจอดประมาณ 89 เที่ยวต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่าย 4,200 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณเรือโดยสารท่องเที่ยวจอดประมาณ 219 เที่ยวต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6,400 บาทต่อคนต่อวัน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญ แบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มูลค่าโครงการ 12,865 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวทางการพัฒนาโครงการในลักษณะร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามแนวทางพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 (พ.ร.บ.PPP) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) PPP เห็นชอบ ภายในเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2567 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567
ทั้งนี้ตามแผนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญอ.เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนพร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนตุลาคม 2567-ธันวาคม 2568 และศึกษารายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในเดือนมกราคม 2568-ธันวาคม 2571 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนมกราคม 2572-พฤศจิกายน 2575 โดยกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2575
2.โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบนกรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรีมูลค่าโครงการ 5,200 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ รวมทั้งรูปแบบการร่วมลงทุน PPP คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567
หลังจากนั้นเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) PPP เห็นชอบ ภายในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2567 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนพร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนเมษายน 2568-ธันวาคม 2569 และศึกษารายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในเดือนมกราคม 2570-ธันวาคม 2572 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนมกราคม 2573-สิงหาคม 2576 โดยกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนกันยายน 2576
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า 3.โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษามูลค่าโครงการฯ ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ รวมทั้งรูปแบบการร่วมลงทุน PPP คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567
หลังจากนั้นเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) PPP เห็นชอบ ภายในเดือนธันวาคม 2567-พฤษภาคม 2568 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2568
อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ จ.ภูเก็ต คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนพร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนกันยายน 2568-มีนาคม 2570 และศึกษารายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รวมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในเดือนเมษายน 2570-มีนาคม 2573 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนเมษายน 2573-พฤศจิกายน 2576 โดยกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2576