4จังหวัดอันดามันลุ้นท่าเรือหลักรับเรือสำราญ 

19 ส.ค. 2565 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2565 | 10:51 น.

4 จังหวัดอันดามันสุดคึกคัก รับกรมเจ้าท่าเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ชายฝั่งอันดามัน ตั้งบริษัทที่ปรึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เล็งคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมใน 4 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน“ระนอง”ชูสุดแขนหนุนพลิกโฉมท่องเที่ยว

นายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง  รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า โครงการศึกษาวางแผนแม่บท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณทะเลชายฝั่งอันดามัน มีความคืบหน้าอย่างน่าสนใจมาก เมื่อกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม แจ้งว่าได้ว่าจ้างที่บริษัทปรึกษา ให้ทำการศึกษา วางแผนแม่บท และสำรวจออกแบบเพื่อพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณช่วยฝั่งอันดามันแล้ว

 

 โดยต้องคัดเลือกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่  ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม  และสังคม  พร้อมทั้งประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่แบบครบวงจร และจัดทำรายงานผลการศึกษา และวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่

4จังหวัดอันดามันลุ้นท่าเรือหลักรับเรือสำราญ 

นายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง  รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง

นายนิตย์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าดังกล่าว สร้างบรรยากาศที่ดีต่อพื้นที่อันดามัน โดยเฉพาะ จ.ระนอง ที่กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญ คือการเป็นเมืองท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก  ซึ่งโครงการท่าเรือเรือสำราญขนาดใหญ่ จะส่งผลดีต่อแผนการขับเคลื่อนและพัฒนายุทธศาตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งยังส่งผลดีต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ อีกมากมายในฝั่งอันดามัน 

 

ในช่วงปี 2552-2562  การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 17.8  ล้านคนในปี 2552  เพิ่มเป็น 29.7 ล้านคนในปี 2562  หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 12 ล้านคนในช่วงเวลา 10 ปี  มีการสร้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่ง มีการจ่ายเงินเดือนและค่าแรงกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญ  อีกทั้งนักท่องเที่ยวเรือสำราญ ยังมีการใช้จ่ายประมาณ  400 ดอลลาร์ต่อวันต่อคน 

4จังหวัดอันดามันลุ้นท่าเรือหลักรับเรือสำราญ 

ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 ม.  มีศักยภาพในการเป็นเมืองท่าต้นทางของเรือสำราญ แต่ประเทศไทยกลับมีท่าเทียบเรือสำราญสำคัญเพียง 3 แห่ง คือภูเก็ต  แหลมฉบัง และเกาะสมุย เท่านั้น ที่ผ่านมามีเรือสำราญที่เข้ามาในประเทศไทยจำนวนกว่า  120 เที่ยว มีจำนวนผู้โดยสารบนเรือเฉลี่ย 3,000 คน มีรายจ่ายเฉลี่ยวันละ 6,000 บาทต่อคน ทำให้ประเทศไทยมีรายได้ในธุรกิจการท่องเที่ยวต่อเนื่องจากเรือสำราญประมาณ 2.2 พันล้านบาทต่อปี 

 

 

บริเวณชายฝั่งอันดามันมีเรือสำราญที่นำนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี แต่ยังคงขาดท่าเทียบเรือหลัก ที่รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น หากมีการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญได้อย่างเต็มระบบ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอย ค่าที่พัก ค่าอาหาร ของชำร่วย  ของฝาก ของอุดโภคบริโภค สร้างรายได้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย