แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)ผู้รับสัมปทาน หารือร่วมกัน จะขยายระยะเวลาการเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากเดิม 2 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 6 มกราคม 2567
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มกราคม 2567 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่สถานีกรมชลประทาน (PK05) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) โดยยกเว้นเก็บค่าโดยสารในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) จำนวน 4 สถานีจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขรางจ่ายไฟแล้วเสร็จ โดยระหว่างนี้จะลดอัตราค่าโดยสารลง 15% จากอัตราปกติ ซึ่งจะมีอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 13-38 บาท เพื่อคงไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ
สำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบนั้น กระทรวงคมนาคมจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยจะแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบต่อไป ภายหลังเกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทาง34.5กิโลเมตร 30สถานี มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า 6 สาย กลายเป็นทำเลทองที่อยู่อาศัยที่น่าจับตาได้แก่
1. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
2. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
3. รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่
4. รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานวัดพระศรีมหาธาตุ
5. รถไฟฟ้าสายสีเทา ที่สถานีวัชรพล
6. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีปลายทางอย่างสถานีมีนบุรี
ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางจากโครงข่ายหนึ่งไปยังอีกโครงข่ายหนึ่งได้อย่างสะดวก รวมถึงประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมถึงเชื่อมส่วนต่อขยายสายสีชมพู เข้าเมืองทองธานี