นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า วันนี้ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและทดลองเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) หลังเกิดเหตุรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor rail) หลุดร่วงลงชั้นพื้นถนนและเกี่ยวสายไฟฟ้า บริเวณถนนติวานนท์ ระหว่างสถานีแคราย ถึง สถานีแยกปากเกร็ด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้ติดตามและตรวจสอบความเรียบร้อยในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเร่งติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
“หลังจากทดลองการเดินรถในวันนี้ ทางบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จํากัด หรือ NBM ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการปรับรูปแบบการเดินรถในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึงสถานีกรมชลประทาน (PK05) โดยจะเปิดเดินรถแบบวิ่งไป-กลับทางเดียวก่อน (Shuttle) ส่วนสถานีอื่นๆ จะเปิดใช้งานทางรถไฟฟ้าได้ทั้งสองฝั่งตามปกติ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2566
สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปปลายทางสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และปลายทางสถานีมีนบุรี (PK30) จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีกรมชลประทาน (PK05) โดยใช้ชานชาลาที่ 1
พร้อมกันนี้ ทางบริษัทผู้รับสัมปทาน NBM ได้ดำเนินการเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และทางเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกับ กรมบนส่งทางราง(ขร.) รฟม. และ NBM มีความเห็นร่วมกันว่า จะขยายระยะเวลาการเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจากเดิม 2 มกราคม 2567 เป็นวันที่ 6 มกราคม 2567
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มกราคม 2567 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่สถานีกรมชลประทาน (PK05) ถึง สถานีมีนบุรี (PK30) และยกเว้นการเก็บค่าโดยสารในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ถึง สถานีสามัคคี (PK04) จำนวน 4 สถานี จนกว่าจะดำเนินการแก้ไขรางจ่ายไฟแล้วเสร็จ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร NBM กล่าวว่า ในช่วงการเก็บค่าโดยสาร 26 สถานี ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2567 บริษัทฯ จะให้ส่วนลดค่าโดยสาร 15% จะเก็บในอัตรา 13-38 บาท จากอัตราเดิมที่จะต้องเก็บ 15-45 บาท โดยจะเก็บในอัตรานี้จนกว่าจะซ่อมแซมรางนำไฟฟ้าแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตามในการเดินรถจะใช้ความถี่ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน(peak) 5 นาที/ขบวน ส่วนนอกช่วงเวลาเร่งด่วน 10 นาที/ขบวน โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 24.00 น. ยกเว้นคืนวันที่ 31 ธ.ค.2566 เปิดบริการถึง 02.00 น.
สำหรับการเก็บค่าโดยสารนั้น ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสารจากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็น สายสีชมพู สายสีเหลือง หรือสายสีเขียว รวมถึงใช้บัตร Rabbit จะสามารถซื้อตั๋วครั้งเดียว และเดินทางร่วมกันได้ทั้งหมดทุกสาย เพราะเป็นผู้ให้บริการเดินรถรายเดียวกัน ทำให้การเดินทางของประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น
ส่วนผู้โดยสารสายสีชมพูที่ใช้บัตร EMV และต้องการเดินทางเชื่อมต่อสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้ใช้บริการทางเชื่อมที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุแล้ว ผู้โดยสารจะต้องแตะบัตร EMV ออกจากระบบของสายสีชมพูก่อน และจะต้องซื้อตั๋วโดยสารของสายสีเขียว เพื่อเข้าสู่ระบบสายสีเขียว เนื่องจากปัจจุบันสายสีเขียว ยังไม่สามารถใช้บัตร EMV ได้ อยู่ระหว่างเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ทั้งนี้ค่าโดยสารสายสีเขียวจัดเก็บสูงสุดอยู่ที่ 62 บาท.