วันที่ 3 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2567 เป็นเวลา 3 วัน โดยแบ่งเป็นผู้อภิปรายจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 20 ชั่วโมงในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ว่า ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 390,149.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข สามารถรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 6,658.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม มีเป้าหมายเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการ อย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ยึดมั่นในหลักสันติวิธี มุ่งเน้นการขจัดปัญหาความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมอย่างจริงจังและถาวร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในสถานศึกษาของรัฐ เสริมสร้างความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
- การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณ 12,695.1 ล้านบาท เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมธำรงรักษาไว้เป็นสถาบันหลักของชาติ สร้างความผูกพันที่ดีระหว่างสถาบันหลักและประชาชน สร้างจิตสำนึกรัก ความหวงแหน ความจงรักภักดี และทำให้สถาบันหลักเป็นที่เคารพยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณ 19,758.8 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในประเทศ ความมั่นคงชายแดน ชายฝั่งทะเล และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้าย ป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติ และเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ตลอดจนติดตามและเฝ้าระวังการทำการประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย
- การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณ 21,536.1 ล้านบาท เพื่อลดความสูญเสีย สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยพัฒนาปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการให้ครอบคลุมรองรับภัยทุกประเภท เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติให้รับมือได้อย่างทันท่วงที พัฒนาระบบเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศ
- การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณ 21,615.0 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการจราจร และปัญหาความรุนแรงในสังคม
- การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณ 57,162.1 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานด้านการข่าว และประชาคมข่าวกรอง ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเผชิญภัยคุกคาม ทุกรูปแบบ ทุกมิติ และทุกระดับความรุนแรง พัฒนากิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่อาจนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ภายในประเทศ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอวกาศ พัฒนาระบบงานข่าวกรองแบบบูรณาการ และประชาคมข่าวกรองในประเทศให้ทันสมัย
- การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 36,625.7 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 204,072.1 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินภารกิจด้านความมั่นคง มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า มีความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 393,517.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้านให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณ 1,916.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคง สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกภาค สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการและผลิตพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก กำกับดูแลกลไกตลาดพลังงานให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน
- การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณ 2,455.5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในส่วนของโครงข่ายสื่อสารหลักและบรอดแบรนด์ความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมการลงทุนและใช้ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน ทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของภาคพื้นดิน เคเบิ้ลใต้น้ำ และระบบดาวเทียมสำหรับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีเพียงพอและมีระบบโครงข่ายสำรอง (Redundancy) ให้สามารถสื่อสารระหว่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนจัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับผู้ให้บริการในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ ส่งเสริมการให้ความรู้ เพิ่มทักษะและใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแก่ประชาชนและทุกสาขาอาชีพ สร้างความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ โครงข่ายสังคมออนไลน์ และทักษะด้านเกมต่อยอดอาชีพในอนาคต
- การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณ 3,806.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 4.8 โดยโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้เกิดการขยายตัว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอากาศยาน และอุตสาหกรรมความมั่นคง โดยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระบบฐานข้อมูลสามมิติคู่เหมือนดิจิทัลเชิงพื้นที่ เพื่อรองรับเมตาเวิร์ส ยกระดับผลิตภาพและพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมและยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง และส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามมาตรการการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ 7,384.1 ล้านบาท ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท และอันดับการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยวอยู่ 1 ใน 30 ของโลก โดยส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ กลุ่มคุณภาพ กลุ่มกีฬา กลุ่มสุขภาพ และ กลุ่มความสนใจพิเศษไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) รายสาขาเพื่อนำเสนอและรักษาจุดเด่นด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย เช่น พัฒนาเมืองสร้างสรรค์ตามแนวทางของยูเนสโก (UNESCO) 5 เมือง การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 100 ชุมชน เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 5 แห่ง พัฒนาแหล่งธรณีวิทยาเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่ง พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อรองรับการจัดงานท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ 10 เมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มอาเซียนและงานสัมมนาระดับนานาชาติ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับชุมชนเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 50 ชุมชน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 160 ราย การท่องเที่ยวไทยและผลักดันให้ชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 ชุมชน เพื่อประโยชน์ในการสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ประชาชน และผู้ประกอบการ 32,900 คน พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางน้ำและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค โดยการพัฒนาท่าเรือและก่อสร้างทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ระยะทาง 209.993 กิโลเมตร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ 9 แห่ง
- เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณ 8,089.0 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้สะดวก และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๗ ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีความทันสมัยเหมาะกับการอยู่อาศัย สามารถประกอบกิจการได้อย่างมีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เช่น เตรียมพื้นที่สำหรับพัฒนาศูนย์ธุรกิจ และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่ชุมชนและปรับปรุงภูมิทัศน์ ตามผังเมือง อีอีซี ไม่น้อยกว่า 17 แห่ง ยกระดับและพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจร 2 แห่ง โรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทาง 2 แห่ง ผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 4,200 คน และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ใน 40 ชุมชน
- การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ งบประมาณ 8,744.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้ประกอบการชุมชน มีความรู้และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ โดยเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล 12,800 คน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับธุรกิจ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีช่องทางการค้าผ่าน e-commerce 25,800 ราย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนที่เน้นการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล
- การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณ 9,433.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เพื่อยกระดับความน่าอยู่ของเมือง โดยใช้แผนผังภูมินิเวศเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมถึง ผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยสนับสนุนการวางผังเมือง 106 ผัง และจัดรูปที่ดิน 232 ไร่
- การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณ 19,270.4 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยเร่งขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมให้มีสมรรถนะและทักษะสูงขึ้น เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ปัญหาความท้าทายในสังคม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
- การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 36,997.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการและลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน พัฒนาช่องทางการตลาดและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย
- การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณ 49,895.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและผลิตภาพด้านการผลิตของสาขาเกษตร โดยส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 2,472 แปลง และ 475,000 ไร่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน 69,954 ไร่ และ 135 แปลง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตและปรับเปลี่ยนการผลิตหรือชนิดของพืช ปศุสัตว์ ให้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัยด้วยการตรวจประเมินแหล่งผลิต ไม่น้อยกว่า 307,347 แห่ง สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ รวมทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 7.92 ล้านครัวเรือน และส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นภาคการผลิตที่สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรพึ่งพาตนเอง
- การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณ 181,529.4 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ให้มีความสมบูรณ์เชื่อมต่ออย่างครอบคลุม เป็นประตูการค้าและการลงทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติอย่างเป็นระบบทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เช่น ทางถนน ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทาง ไม่น้อยกว่า 2,900.6 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะทางไม่น้อยกว่า 105 กิโลเมตร ทางราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการขนส่งทางรางสายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร – นครพนม และพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ทางน้ำ พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำต่าง ๆ เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า ไม่น้อยกว่า 115 ล้านตัน ทางอากาศ เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนอย่างทั่วถึง การพัฒนารูปแบบการกำกับดูแล และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 2,390 คน กำกับดูแลและพัฒนามาตรฐานด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ทุกรูปแบบให้มีคุณภาพระดับสากล รองรับและอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
- การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 21,335.6 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 42,659.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันสอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนากำลังคนและศักยภาพของประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้ง ส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ ทำให้วงจรทางเศรษฐกิจการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและในต่างประเทศอันจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 561,954.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาได้รับการปฏิรูปให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบการศึกษา สนับสนุนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ครอบคลุม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างศักยภาพทางการกีฬา รวมทั้ง ผลิตกำลังคนและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณ 2,539.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง มีน้ำใจนักกีฬา และตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ออกกำลังกาย เล่นกีฬาและนันทนาการอย่างสม่ำเสมอ ผ่านอาสาสมัครทางการกีฬาและผู้นำการออกกำลังกาย 700 หมู่บ้าน พัฒนาทักษะและศักยภาพนักกีฬามุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ ตลอดจน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกกำลังกาย
- การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณ 3,145.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม และความภูมิใจในความเป็นไทย โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเทิดพระเกียรติและเผยแพร่เกียรติคุณทั้งด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้ง ส่งเสริมค่านิยมที่ดีงาม คุณธรรม จริยธรรม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 11.2 ล้านคน รวมทั้ง ให้มีการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และจัดทำฐานข้อมูลด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และพัฒนาต่อยอดเป็นพลังสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล
- การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณ 24,932.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และทั่วถึง พัฒนาระบบการเรียนรู้และหลักสูตรให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มระบบการจัดการเรียนรู้ พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นครูยุคใหม่ ไม่น้อยกว่า 175,696 คน สนับสนุนการคืนครูให้นักเรียน ไม่น้อยกว่า 68,000 คน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู พัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรสะเต็มศึกษา (STEM) แก่นักเรียน 200,000 คน ในโรงเรียน 15,000 แห่ง ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี 15,000 คน สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล 8,217 แห่ง สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน ส่งเสริมการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง 455 แห่ง แก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กออกกลางคันให้เข้าสู่ระบบการศึกษา รวมทั้ง พัฒนาทักษะวิชาชีพและอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับกลุ่มเป้าหมาย 1,299,500 คน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานและต่อยอดอาชีพให้กับประชาชน
- การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณ 33,372.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพ ครอบครัวเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีทักษะและความรู้ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ผลิตและพัฒนากำลังคนอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จัดรูปแบบและหลักสูตรต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ให้สามารถสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank) 120 หลักสูตร ส่งเสริมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้มีทักษะที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 13,520 คน รวมทั้ง พัฒนาแรงงานให้มีทักษะและสมรรถนะสูงและมีงานทำ ไม่น้อยกว่า 1,002,690 คน ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในตำแหน่งงานที่ขาดแคลน 20,000 คน และพัฒนาทักษะอาชีพผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 179,600 คน ให้สามารถประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้
- การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 64,670.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ และสติปัญญา สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรม โดยส่งเสริมกลไก สร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ และเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ ตลอดจนพัฒนาระบบระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ผ่านกลไกระดับชุมชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไม่น้อยกว่า 1,075,100 คน และภาคีเครือข่ายในการจัดการสุขภาพ ส่งเสริมความรอบรู้ด้านการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ เสริมสร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร พัฒนาและยกระดับสมุนไพรเพื่อเพิ่มมูลค่าและการดูแลสุขภาพประชาชน เร่งรัดการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ไม่น้อยกว่า 30,580 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทไม่น้อยกว่า 900 คนต่อปี พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตผ่านช่องทางที่หลากหลาย
- การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 29,109.8 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 404,183.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั่วถึง ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม 1,350,000 คน สนับสนุนบริการวิชาการด้านพลศึกษา กีฬาและนันทนาการ 3,628,800 คน พัฒนาศักยภาพวัยแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจน สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาน้อมนำแนวพระราชดำริมาบูรณาการแก้ไขปัญหาในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 834,240.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมและกลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน พัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค และการศึกษาที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งสร้างหลักประกันสวัสดิการ สำหรับแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 820.1 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเผยแพร่ความรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อาทิ ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ ไม่น้อยกว่า 2,720 คน สามารถเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ไม่น้อยกว่า 331,220 คน อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 11,000 แห่ง และเข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐานและได้รับการดูแลที่เหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1,393,195 คน ตลอดจน เพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 23,390 คน เพื่อเป็นกลไกในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 62,320 คน ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพและสังคมอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณ 2,302.7 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชาชน พัฒนาและสร้างโอกาสประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีอาชีพ สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ไปสู่เกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวนเกษตรกรได้รับการพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตร 23,095 ราย เกษตรกรได้รับสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจ สนับสนุนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคการเกษตร สนับสนุนการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน โดยพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน สนับสนุนการพัฒนากลไกการตลาดและระบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชนให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น
- การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณ 5,053.0 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยการจัดสรรที่ดินทำกินของตนเอง เพื่อใช้สำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 591 ราย ส่งเสริมการร่วมมือทางการค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจฐานรากในแต่ละภูมิภาค ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติรวมทั้งสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่เหมาะสม โดยรัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน ตลอดจนสนับสนุนงานพิธีศพที่ได้รับพระราชทาน ตามพระบรมราโชบายอย่างเหมาะสม
- การเสริมสร้างพลังทางสังคม งบประมาณ 6,842.0 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างพลังในชุมชนให้เกิดเป็นพลังทางสังคม สร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง สนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพองค์การสวัสดิการสังคม อาสาสมัคร เครือข่าย และภาคประชาชน พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ส่งเสริมศักยภาพบทบาทสตรีและสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม 160 กิจการ สนับสนุนทุกเพศสภาพเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ส่งเสริมชุมชนให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้และพึ่งตนเองได้ ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนโดยพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และน้อมนำแนวทางพระราชดำริสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่การเพิ่มคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม
- มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม งบประมาณ 22,867.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ประชากรกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์สิทธิของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐที่มีข้อพิพาทให้ยุติ ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มคุณภาพการให้บริการสาธารณะให้มีความปลอดภัย รวมทั้งสร้างพลังความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่การยกระดับการคุ้มครองทางสังคม โดยสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ไม่น้อยกว่า 2,556,723 คน สนับสนุนการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี 115,281 ราย สนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงบ้านมั่นคง 3,900 ครัวเรือน บ้านพอเพียง 26,348 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 70 ครัวเรือน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ ช่วยเหลือคุ้มครองผู้ประสบปัญหาทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ ปรับปรุงและจัดหาอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสนับสนุนบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
- การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณ 23,076.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบบูรณาการครอบคลุมทุกมิติการพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ผ่านโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณ 85,853.3 ล้านบาท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ทั้งในระบบและนอกระบบตามสิทธิที่กำหนดไว้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่า 9,085,400 คน ประกอบด้วยค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบหรือกลไกความร่วมมือในพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ และสนับสนุนทุนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสายอาชีพ จำนวน 25,000 คน
- การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณ 339,007.2 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกจากบริการพื้นฐานทางการแพทย์ใกล้บ้าน มีสุขภาวะที่ดี โดยพัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ ไม่น้อยกว่า 47.67 ล้านคน สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ระบบประกันสุขภาพที่ทั่วถึง ได้มาตรฐานและเป็นธรรม ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยเชื่อมโยงข้อมูลบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย พัฒนาคลินิกหมอครอบครัว ส่งเสริมกลไกการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเฉพาะการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค อาทิ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มีสถานส่งเสริมสุขภาพ สถานชีวาภิบาลประจำท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมถึงสร้างความปลอดภัยและอนามัยสุขภาพในการทำงานให้เหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง และคนขอทานได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือที่ครอบคลุม ตลอดจนสนับสนุนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการลดภาระค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน และส่งเสริมการออมเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสภาพ 2.55 ล้านคน ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ
- การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 339,124.9 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินงานและจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีมาตรฐานและประสิทธิภาพ สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกมิติและประชาชนได้รับบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 0.96 ล้านคน สนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียน ไม่น้อยกว่า 5.19 ล้านคน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 5.2 ล้านคน สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 11.83 ล้านคน เบี้ยยังชีพคนพิการ ไม่น้อยกว่า 2.14 ล้านคน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความสามารถและร่วมพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างมั่นคง และยั่งยืน
- การดำเนินภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 837.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 8,456.5 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอทางสังคมให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในระบบและนอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 131,292.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล งบประมาณ 415.4 ล้านบาท เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการปรับปรุง ฟื้นฟู และสร้างใหม่ โดยจัดการคุณภาพน้ำทะเล รักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้คงความสมบูรณ์ ควบคู่กับการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามเฝ้าระวัง คาดการณ์ และประเมินผลกระทบจากคราบน้ำมันในทะเล โดยมีค่าเป้าหมายดัชนีคุณภาพมหาสมุทร 72 คะแนน
- การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 868.0 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยแก้ไขปัญหาขยะทุกประเภทอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบริหารจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด และสนับสนุนการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร จัดการคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และปริมาณน้ำเสียได้รับการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ไม่น้อยกว่า 90.0 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการส่งเสริมให้โรงพยาบาล มีการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์
- การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ 1,788.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลง 45 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 8 จากกรณีปกติ ด้วยการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความร่วมมือของภาคีต่าง ๆ เสริมสร้างขีดความสามารถในการลดมลพิษ และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาประเทศมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจวัดและการแจ้งเตือนภัยสภาพอากาศ รวมทั้งประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อใช้กำหนดนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 2,333.5 ล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ รักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง บริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากร รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล
- การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณ 5,655.8 ล้านบาท เพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยพัฒนากลไกและมาตรการในการอนุรักษ์ ปกป้องคุ้มครอง ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 98.94 ล้านไร่ และส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 36,300 ไร่ จัดระเบียบการใช้ที่ดินด้วยการสำรวจการถือครองที่ดินและจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ 3,731 หมู่บ้าน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 92,003.6 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคผ่านการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 56,434 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงด้านน้ำทั้งภาคการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรมให้มีต้นทุนน้ำใช้อย่างสมดุล มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 335,501 ไร่ การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ 298,646 ไร่ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 120 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 37,194 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟู 7,450 ไร่ พื้นที่ชลประทานเดิมได้รับการปรับปรุง 1 ล้านไร่ เกษตรกรและราษฎรได้รับประโยชน์จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 20,000 คน ตลอดจนบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
- การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 10,013.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 18,214.3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเล ทรัพยากรธรรมชาติ จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและพัฒนาสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยว และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 604,804.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวม จำแนกตามแผนงานสำคัญ ดังนี้
- การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณ 754.0 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย โดยมีค่าเป้าหมายค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 51 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 89 คะแนน ผ่านการปลูกจิตสำนึก และสร้างค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม และใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้สังคมไทยมีภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริตดีขึ้น มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
- รัฐบาลดิจิทัล งบประมาณ 3,029.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า โดยยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐให้ยืดหยุ่นคล่องตัว มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 100,000 คน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลโดยให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ไม่น้อยกว่า 40,000 VM (Virtual Machine) สนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือดิจิทัลกลางภาครัฐเพื่อเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ อย่างน้อย 16 แพลตฟอร์ม ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ใช้บริการ ตลอดจนจัดตั้งทีมรับมือเหตุฉุกเฉินทางคอมพิวเตอร์ในด้านบริการภาครัฐ ด้านพลังงานสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของภาครัฐ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เพื่อยกระดับการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
- การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ 17,774.2 ล้านบาท เพื่อทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และมาตรฐานและกลไกกำกับดูแลด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้ง ควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม
- การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณ 28,420.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐให้สามารถติดต่อราชการโดยสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดค่าใช้จ่าย และตรวจสอบได้ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลัง โดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และการปรับปรุงระบบภาษีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว มีการปรับสมดุลภาครัฐโดยการปรับขนาดของภาครัฐให้เหมาะสมกับภารกิจ เสริมสร้างบทบาทของภาคส่วนอื่นๆ ตลอดจนสร้างบุคลากรภาครัฐให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึก และเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพภายใต้หลักระบบคุณธรรม
- การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณ 425,212.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ สนับสนุนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ
รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายตามสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง อาทิ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชย และเงินช่วยเหลือของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
- การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 21,241.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 108,372.4 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า ประชาชนได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
รายการดำเนินการภาครัฐ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 564,041.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง ดังนี้
- รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 99,300.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งชดเชยค่างานก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
- การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 346,380.1 ล้านบาทเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 228,060.1 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,361.1 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้ใช้จ่ายไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม