เอกชนจ่าย‘โบนัส’ อู้ฟู่ ค่ายรถยนต์แชมป์ ท่องเที่ยวคัมแบ็ค

03 ม.ค. 2567 | 10:58 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2567 | 11:09 น.

เอกชนพาเหรดจ่าย “โบนัส” อู้ฟู่ ค่ายรถครองแชมป์ “อีซูซุ” 8.5 เดือนบวกเงินพิเศษ “โตโยต้า” 7.5 เดือน สหพัฒน์-มาม่า 3-5 เดือน กลุ่มท่องเที่ยวคัมแบ็ค “ทอท.” 7 เดือน บวท.-บางกอกแอร์เวย์ส 2 เดือน ททท. 1 เดือน ส่วนกลุ่มอาหาร CPF จ่าย 2 เดือน

ผลสำรวจการให้โบนัสและขึ้นเงินเดือนประจำปี 2566-2567 ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ที่พบว่า กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เป็นกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนและให้โบนัสสูงเป็นลำดับต้น ๆ ส่วนกลุ่มยานยนต์เป็นกลุ่มที่ให้โบนัสสูงสุดติดต่อกันหลายปีที่ผ่านมา โดยการจ่ายโบนัสรวม (โบนัสคงที่และโบนัสผันแปร) ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.57 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ให้โบนัสรวมสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ กลุ่มยานยนต์ 4.45 เท่าของเงินเดือน กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3.15 เท่าของเงินเดือนและกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2.59 เท่าของเงินเดือน

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ทำการสำรวจการจ่ายโบนัสประจำปีของภาคเอกชนรายใหญ่ พบว่า กลุ่มยานยนต์ ที่แม้ว่าตลาดรวมในปี 2566 จะไปไม่ถึงเป้าหมาย 9 แสนคัน ในขณะที่หลายค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ยอดขายร่วงถ้วนหน้า ทั้งโตโยต้า อีซูซุ มิตซูบิชิ นิสสัน มาสด้า ซูซูกิ ทว่าเมื่อพิจารณาศักยภาพโดยรวมของธุรกิจแล้ว พนักงานยังได้รับโบนัสกันเพียบเหมือนเดิม ซึ่งแต่ละบริษัทพิจารณาการจ่ายโบนัสจบไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดย 2 ค่ายใหญ่ที่เป็นผู้นำในการแจกโบนัสอันสอดคล้องกับผลกำไรหลักหมื่นล้านบาทต่อปี อย่าง “โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย” จ่ายโบนัสให้พนักงาน 7.5 เดือน (แบ่งจ่าย 2 ครั้ง) พร้อมเงินพิเศษ 38,000 บาท ขณะที่ “อีซูซุ มอเตอร์ ประเทศไทย” (โรงงานผลิต) จ่ายโบนัส 8.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 36,500 บาท

ด้านบริษัทผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ “ฮีโน่ มอเตอร์ส” จ่าย 7.4 เดือน และเงินพิเศษ 42,500 บาท ในส่วน “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย” และ “ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย” ให้โบนัสพนักงานเท่ากันที่ 5.8 เดือน แต่ต่างกันที่เงินพิเศษ 46,000 บาท และ 50,000 บาท ตามลำดับ

ขณะที่ “เครือสหพัฒน์” ประกาศจ่ายโบนัส 3-5 เดือน (ขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละบุคคล) โดยจะจ่ายในช่วงตรุษจีน (ก.พ. 67) ส่วน บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิต “มาม่า” ประกาศจ่ายโบนัสพนักงานกว่า 6,000 คน 3-5 เงินเดือน และเพิ่มอีก 1 เดือนในช่วงวันที่ 25 ธ.ค.2566 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลงาน

“การจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบริษัททุกปี และในปีนี้ได้พิจารณาจ่ายโบนัสในอัตราที่สูงขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อตอบแทนผลงานของพนักงานทุกคนที่ร่วมกันผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จ” นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวและว่า

เอกชนจ่าย‘โบนัส’ อู้ฟู่ ค่ายรถยนต์แชมป์ ท่องเที่ยวคัมแบ็ค

สำหรับพนักงานที่จะได้รับโบนัส 3-5 เท่าของเงินเดือน นั้นมีการจ่ายมานานแล้วให้ทุกปี เนื่องจากเงินเดือนพนักงานไม่มาก จึงต้องมีสวัสดิการให้เพื่อเป็นการจูงใจอย่างเช่นการจ่ายเงินโบนัสเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงาน การจ่ายโบนัสให้กับพนักงานครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของบริษัท และเป็นการตอบแทนความทุ่มเทของพนักงานทุกคน ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและเติบโตให้กับบริษัท

ทั้งนี้ปัจจุบัน โรงงานผลิตมาม่า มีทั้งหมด 8 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 5 แห่ง โดย 3 แห่งเป็นโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ ได้แก่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1 แห่ง ลำพูน 1 แห่ง ระยอง 1 แห่ง และโรงงานผลิตเส้นขาว ที่ราชบุรี 1 แห่ง และโรงงานผลิตในต่างประเทศ อีก 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี

ด้านนายสุริยันต์ โคจรโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการ บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SKR กล่าวว่า ศิครินทร์จ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกปี ตามผลงานของพนักงงานและผลงานของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตขึ้นทุกปี โดยโครงสร้างการจ่ายโบนัสเแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1. Cooperate Bonus 2. Performance Bonus และสำหรับปีนี้จะจ่ายมากกว่าปีที่แล้ว 50% จากปัจจัยบวกคือ ผลประกอบการของบริษัทดี และมีระบบการประเมินรายบุคคล และเชื่อว่าการทำงานหนักของพนักงานและความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำให้บริษัทเดินมาถึงจุดนนี้และเติบโตขึ้นได้

สำหรับโบนัส รวมถึงเงินรางวัลพิเศษเพื่อตอบการทำงานของธุรกิจด้านการบินและการท่องเที่ยว พบว่า บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ได้โบนัส 7 เดือน ซึ่งเป็นการกลับมาได้โบนัสอีกครั้งในรอบ 3 ปี เนื่องจากธุรกิจกลับมาทำกำไร หลังจากที่ผ่านมาขาดทุนจากผลกระทบโควิด-19 บริษัท

วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ให้เป็นเงินรางวัลพิเศษในโอกาสที่พนักงานตั้งใจทำงาน จำนวน 2 เดือน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานที่ตั้งใจทำงาน จำนวน 1 เดือน

รวมถึงสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้โบนัส 2 เดือน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้โบนัสพนักงานค่าเฉลี่ย 1.5 เดือน โรงแรมสยามแคมปินสกี้ 2.25 เดือน โรงแรมแมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค 1.25 เดือน โดยจะจ่ายในสิ้นเดือนมกราคม 2567

ฟากกลุ่มธุรกิจอาหาร พบว่า ซีพีเอฟ ประกาศให้โบนัส 2 เดือน ตั้งแต่ 25 ธันวาคม 2566 เช่นเดียวกับทุกปี ส่วนไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป แจกโบนัส 1 เดือนในเดือนธันวาคม และจะแจกโบนัสอีกครั้งในเดือนมีนาคม โดยพิจารณาจากผลงานหรือศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งโดยเฉลี่ยในแต่ละปีพนักงานจะได้รับโบนัส 2-3 เดือน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยก็ตาม แต่พบว่าผลประกอบการที่ดีแม้ว่าจะเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดก็ตาม แต่การจ่ายโบนัสเพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับพนักงานประเมินว่า หลายค่ายยังมีแต่ส่วนใหญ่จะสรุปในช่วงต้นปี 2567 หรือไม่ก็ช่วงเทศกาลตรุษจีน

โดยนายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีดา เรียลเอสเตท จำกัด ผู้พัฒนาธุรกิจโครงการคอนโดมิเนียม “กรีเน่คอนโด” (GRENE CONDO) และมีบริษัท ปรีดา โฮลดิ้ง จำกัด ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า แม้ตลาดอสังหาปี 2566 ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนัก แต่บริษัทมีนโยบายจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน 2 เดือน ไม่รวมการปรับขึ้นเงินเดือน

ขณะค่ายใหญ่บมจ.ศุภาลัย มีแผนปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน และมีจ่ายโบนัสแน่นอน แต่จะเป็นตัวเลขที่เท่าใดนั้น ต้องตรวจสอบจากฝ่ายการเงินอีกครั้งเช่นเดียวกับ บมจ.แสนสิริ ยังไม่เคาะออกมาจะเป็นเท่าใด แต่จะทราบแน่ชัดน่าจะเป็นในช่วงต้นปี 2567 เป็นต้น