วันนี้ (3 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้านการดำเนินโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาล ว่า เรื่องของการเจรจา FTA หรือสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่การเจรจา FTA กับ EU หรืออังกฤษ แต่รัฐบาลยังได้ทำเรื่องนี้มากขึ้น โดยมีการตั้งงบประมาณเผื่อไว้เรียบร้อยแล้ว
นายเศรษฐากล่าวว่า จากการที่ได้เดินทางไปเยือนต่างประเทศทั่วโลกและได้พบปะพูดคุยกับหลาย ๆ บริษัทนั้น ประเด็นสำคัญที่บริษัทดังกล่าวจะมาตั้งโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก เรื่อง FTA ถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เราล้าหลังประเทศคู่แข่ง เช่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงเรื่องนี้ และเห็นว่าเป็นประเด็นเสี่ยงหากเราไม่ได้ทำ ไม่ได้เจรจาให้บรรลุผลได้ บริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะย้ายฐานการผลิต
“ไม่ใช่เรื่องของค่าแรง ถ้าเขาจะย้าย แต่เป็นเรื่องที่เรามีความคืบหน้าน้อยมากในช่วง 8 - 9 ปีที่ผ่านมาในการเจรจาเรื่องของ FTA ยืนยันว่าเรื่อง FTA เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรามีแผนงานเรื่องนี้ที่ชัดเจนและจะพยายามทำให้ได้โดยรวดเร็วที่สุด”นายเศรษฐากล่าว
นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องจุดยืนประเทศไทยในเวทีโลกที่ปัจจุบันมีความเปราะบางอย่างสูงว่า ประเทศไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนคือจุดยืนความเป็นกลาง มีความภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชของประเทศไทย หลายเรื่องต่าง ๆ ที่มีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอิสราเอลกับฮามาส การที่เราเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทำร้าย แต่เราก็ใช้การทูตการเจรจาที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยมีจุดยืนที่ความเป็นกลาง และอาศัยความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับประเทศที่มี Influence over ทั้งสองฝ่าย
นายเศรษฐากล่าวว่า โดยเฉพาะนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งได้มีการพบปะในหลายเวที โดยเมื่อปลายเดือนที่แล้วได้ไปรับประทานอาหารร่วมกันมา ก็ได้มีการขอร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียช่วยดูแลเรื่องของตัวประกันอีก 8 คนที่ยังไม่หลุดออกมา ซึ่งต้องเฝ้าระวังว่าเมื่อไรที่จะมีการหยุดยิงเกิดขึ้น เพื่อช่วงนั้นเราจะมีการรุกเจรจาและขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ เราทุกคน
นายเศรษฐากล่าวว่า การเดินทางไปเยือนต่างประเทศเป็นที่ประจักษ์ถึงความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรม High profit มีการจ้างงานเกิดขึ้น มีการยกระดับรายได้ ทำมาแล้ว 100 กว่าวัน แต่ก็ยังมีความเปราะบาง มีความเสี่ยงอยู่ ต้องติดตามงานอย่างใกล้ชิด เราแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่แต่ละคนก็จะพยายามที่จะ offer สิ่งที่ดี ๆ กับประเทศเขา
“แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีแค่นโยบายทางด้านการภาษี เรามีหลาย ๆ อย่างที่ดี ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า มีโรงเรียนนานาชาติที่เหนือกว่าเขา Health care system ที่เป็นระบบ World Class การที่นักลงทุนต่างประเทศจะมาอยู่ประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญ เ โดยจะมุ่งมั่นในการที่จะนำบริษัทข้ามชาติที่มีศักยภาพในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนคนไทยทุกคนอย่างต่อเนื่อง”นายเศรษฐากล่าว
นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของทุนมนุษย์ว่า ระหว่างที่ตนไปเจรจากับหลาย ๆ ประเทศนั้น เราไม่ได้ที่จะเอาแค่เม็ดเงินของเขาเข้ามา ไม่ได้จะเอาแค่ผลิตภัณฑ์ของเขาเข้ามาผลิตในประเทศไทย หนึ่งในข้อตกลงนั้น เราจะให้เขามีการเข้ามาสร้าง Training Center ด้วย มีการมาสร้างทักษะพิเศษที่ประชาชนของประเทศเราอาจจะยังขาดอยู่บ้าง เพื่อให้คนของเราพัฒนาและสามารถมาทำงานในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อุตสาหกรรมที่มีรายได้ดี ทำให้เรามีรายได้สูงขึ้น
นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรใกล้เคียงกับเราประมาณ 70 ล้านคน มีเขตชายแดนติดต่อกับเราประมาณ 2,000 กม. นายปานปรีย์ ได้ไปพูดคุยกับ Counterpart ของท่าน แล้วมีการตกลงกัน โดยความเห็นชอบจากสมาชิกของอาเซียน ว่าเราจะต้องตั้งคณะกรรมการ Humanitarian Assistance เพื่อที่จะดูแลผู้ที่เปราะบางให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการเจรจาในด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้าชายแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจา ที่ทำให้ PM 2.5 ลดลงไป เรื่องของการค้ายาเสพติด ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมีการเจรจาควบคู่กันไปด้วย
“เรื่องของ OCA พื้นที่ทับซ้อน ที่เราเจรจาอยู่อย่างต่อเนื่อง เรามีความสัมพันธ์ที่ดี เราให้ความสำคัญ หนึ่งใน Agenda ที่จะมีการพูดคุยกัน เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ซึ่งจะมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เราหยิบยกขึ้นมาเริ่มต้นพูดคุย เรานั่งอยู่บนขุมทรัพย์ที่มีมูลค่าหลาย ๆ ล้านล้าน เราก็ควรที่จะมีการตกลงกันได้ พูดคุยกันได้ เพื่อที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สองประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายจ่ายที่ลดลงด้วย”นายเศรษฐากล่าว