ความคืบหน้ากรณี บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทแม่ของอัครา ฟ้องรัฐบาลไทยด้วยการทำคำเสนอข้อพิพาท(สเตทเมนท์ ออฟ เคลม) กับราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนอนุญาโตตุลาการขั้นตอนเจรจาครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ล่าสุดทั้งรัฐบาลไทยและคิงส์เกตฯ ได้ตกลงขยายขั้นตอนการเจรจาในกระบวนอนุญาโตตุลาการออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามก็คือ แม้การเจรจายังเป็นไปด้วยดี โดยที่เหมืองอัคราเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการบางส่วน แต่วันที่ 31 ธันวาคม 66 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ (DSI) กลับสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหาคดี บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับพวก ประกอบด้วย
นายปกรณ์ สุขุม ผู้ต้องหาที่ 2 ,นายไมเคิล แพรทริค โมโนกาน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้ต้องหาที่ 4 ในข้อหายึดที่ดินรัฐ ครอบครองป่า สร้างตะแกรงรุกทางหลวง นัดส่งตัวฟ้อง 24 มกราคมนี้ พร้อมระบุขอศาลออกหมายจับจำเลยที่ 3 เพราะหลบหนีเเล้ว ทำให้ต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร จะมีปัญหาใหม่ตามมาหรือไม่
ต่อกรณีดังกล่าวนายเจมี่ กิ๊บสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ระบุว่า ข่าวเรื่องการสั่งฟ้อง สำนักงานอัยการคดีพิเศษไม่ได้แจ้งให้ทางบริษัทหรือผู้ต้องหาทราบล่วงหน้า ทั้งที่ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเรื่องนี้มาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทยังไม่ทราบจากอัยการโดยตรงว่าสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง อาจจะทราบในวันที่ 24 มคราคมตามที่นัดหมายไว้ จึงตั้งข้อสงสัยว่าการกระทำนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ อีกทั้งวันที่มีข่าวออกมายังเป็นวันเดียวกับวันที่บริษัทคิงส์เกตและรัฐบาลไทยตัดสินใจเลื่อนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกไปเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2567
“รัฐควรตระหนักต่อสิ่งที่จะส่งผลกับการตัดสินใจและความมั่นใจของนักลงทุน เศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยยืนยันว่าข้อกล่าวหาตามที่ปรากฏในสื่อไม่มีมูลความจริง บริษัทชี้แจงได้ ถ้ามีการสั่งฟ้องเกิดขึ้นทางบริษัทจะต่อสู้คดีในศาลอย่างถึงที่สุด”
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นการทำเฉพาะตัว ไม่ใช่ผ่านสื่อมวลชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรม เกิดความเสียหายต่อตัวผู้ถูกกล่าวหา ครอบครัวและญาติ เป็นข้อกล่าวที่ร้ายแรง ทำให้เสื่อมค่า ใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้
"ตนมีคำถามว่าตนและนายปกรณ์ยังเป็นคนไทยที่ได้รับการคุ้มครองรับรองสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ อีกทั้งกรณีนายไมค์ โมนาฮาน เป็นการกล่าวหาให้ร้ายบุคคลที่สาม เพราะนายไมค์สิ้นสุดการเป็นพนักงานและผู้บริหารเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2558 และอาจนำไปสู่ปัญหาในเชิงการทูตจากการไปกล่าวหาพลเมืองประเทศของนายไมค์ ต้องขอความกรุณาอัยการสูงสุดสอบทานเรื่องนี้จริงจัง อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาด้วย"