"เงินดิจิทัล 10,000" ฉลุย คลังเผยกฤษฎีกาไฟเขียว พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

08 ม.ค. 2567 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2567 | 08:15 น.

รมช.คลัง เผยกฤษฎีกาไฟเขียวเดินหน้าตามมติครม. ออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000บาท ระบุมีข้อสังเกตต้องดำเนินการตามกฎหมาย-รับฟังข้อคิดเห็น คาดสัปดาห์หน้าประชุมคณะกรรมการ สรุปแนวทางลุยต่อ ยันเริ่มได้พ.ค.67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบของคำถามที่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 10,000 บาท ส่งไปถามกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งคำตอบกฤษฎีกาเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และทางคณะกรรมการนโยบาย ที่จะดำเนินการกู้เงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการเดินหน้าโครงการจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้เดือนพ.ค.67

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสังเกตบางข้อ เช่น การออกพ.ร.บ.กู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งในวันนี้ กระทรวงการคลังได้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

ขณะที่ขั้นตอนต่อไปจากนี้ จะมีการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการนโยบาย คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการ และจะมีการหารือในที่ประชุมครม. วันที่ 9 ม.ค.67 นี้ เมื่อประชุมหาข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป แล้วก็จะขอความกรุณาจากเลขากฤษฎีกาช่วยสรุปคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ามีข้อสังเกต และมีวิธีการดำเนินการต่อไปอย่างไร เมื่อนำเสนอแล้วจะมีมติเดินหน้าอย่างไร

“กฤษฎีกามามีความเห็นว่าทำได้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น สถานการณ์วิกฤตไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ มาตรา 57 ความคุ้มค่าของโครงการต้องมีการประเมินผลก่อนและหลัง รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านจะต้องมาดูว่าจะทำกลไกอย่างไรเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อนจากประชาชน หรือเสียงสะท้อนจากส่วนงาน”

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างเปราะบางประชาชนอยู่ในความเดือดร้อน ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายเรียกร้องตรงกันว่า คงต้องดำเนินการกระตุ้นได้แล้ว แต่กลไกทั้งหมด เมื่อมีข้อสังเกตจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมถึงรัฐบาลในการที่จะหาคำตอบ และรายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อชี้ต่อสังคม และส่วนงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบทั้งหมด

ส่วนการเตรียมยกร่างพ.ร.บ.กู้เงินนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ 100% คาดว่าสามารถทำได้รวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งรายละเอียดจะประกอบด้วย หลักการและเหตุผล เนื้อหากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เอกสารประกอบ รายละเอียดโครงการทั้งหมด และรวมถึงรายละเอียดผลการชำระเงินคืนด้วย เป็นต้น