บอร์ดภาพยนตร์ เคาะรื้อกฎหมาย ปลดล็อกเทศกาลหนัง ไม่ต้องตรวจเซ็นเซอร์

08 ม.ค. 2567 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2567 | 11:17 น.

"รองนายกฯปานปรีย์" เผย บอร์ดภาพยนตร์ฯ ไฟเขียวให้พิจารณาทบทวนแก้ไขกฎกระทรวงฯภาพยนตร์ให้ทันสมัย-สร้างสรรค์ ปลดล็อกเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ ฉายในไทยไม่ต้องผ่านการพิจารณาเซ็นเซอร์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

 

แก้ไขกฎกระทรวงที่ล้าสมัย

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรมโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) พิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 เนื่องจากเป็นกฎกระทรวงที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน 

จึงควรพิจารณาทบทวนปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้การรับชมภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไป และประชาชนมีช่องทางเลือกรับชมภาพยนตร์ผ่านสื่อต่าง ๆ นอกเหนือจากการรับชมผ่านโรงภาพยนตร์

อีกทั้งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความกังวลเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ 

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว มีเจตนารมณ์สำคัญที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับให้คำแนะนำในการชมต่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองในการเลือกรับชมภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับวัยของผู้รับชม ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลอย่างเหมาะสมกับวุฒิภาวะ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์ต่อเด็กเยาวชน  

ซึ่งในการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาของประเทศไทยพิจารณาจากเรื่องเพศ ความรุนแรง ภาษา และประเด็นอ่อนไหวอื่น ๆ อาทิ ความมั่นคง ยาเสพติด ศาสนา ลัทธิความเชื่อ คำสั่งสอน เป็นต้น

จึงมีมติให้สวธ.ไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน เพื่อนำมาพิจารณา ปรับปรุงแก้ไข และให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเห็นชอบต่อไป

บอร์ดภาพยนตร์ เคาะรื้อกฎหมาย ปลดล็อกเทศกาลหนัง ไม่ต้องตรวจเซ็นเซอร์

ปลดล็อกเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศ

นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สวธ. พิจารณาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่อง เทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่นำภาพยนตร์ออกฉายได้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต พ.ศ. 2560 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม 

โดยปัจจุบันกำหนดให้เทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศที่แนบท้ายประกาศ จำนวน 12 เทศกาล สามารถนำภาพยนตร์ออกฉายได้โดยไม่ต้องผ่านพิจารณาตามมาตรา 25 

ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้ภาพยนตร์อิสระได้ออกฉายมากขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

จึงมีมติให้ สวธ. จัดทำแนวทาง กรอบการดำเนินงาน และหลักเกณฑ์กำหนดหน่วยงานที่สามารถนำภาพยนตร์ออกฉายได้โดยไม่ต้องพิจารณาและได้รับอนุญาตตามประกาศดังกล่าว และรายงานให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไป 

บอร์ดภาพยนตร์ เคาะรื้อกฎหมาย ปลดล็อกเทศกาลหนัง ไม่ต้องตรวจเซ็นเซอร์

ปรับปรุงองค์ประกอบคกก.พิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์

ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบและเพิ่มคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จากเดิม 6 คณะ เป็น 10 คณะ โดยมีคณะด้านภาพยนตร์ 8 คณะ ด้านวีดิทัศน์ 2 คณะและปรับสัดส่วนคณะกรรมการฯ ให้มีภาคเอกชน จำนวน 3 คน และภาครัฐ จำนวน 2 คน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจพิจารณา และให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาภาพยนตร์มากขึ้น

 

ลดขั้นตอนยื่นเอกสาร-ลดค่าธรรมเนียม ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการลดขั้นตอน ลดการยื่นเอกสารและลดค่าธรรมเนียม คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ

ซึ่งมีมติเห็นชอบให้สวธ.ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำนวน 4 ฉบับ และร่างประกาศจำนวน 3 ฉบับ 

โดยมีสาระสำคัญ เช่น

  • ลดค่าธรรมเนียมตรวจพิจารณาสื่อโฆษณา
  • ลดค่าออกใบแทนใบอนุญาต
  • ลดการเรียกสำเนาบัตรประชาชนและรูปถ่าย
  • ยกเลิกการแจ้งเปลี่ยนกรรมการ ผู้จัดการ และผู้มีอำนาจลงนามนิติบุคคล
  • เพิ่มช่องทางการยื่นขออนุญาตและแก้ไขข้อมูลในใบอนุญาตด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  

บอร์ดภาพยนตร์ เคาะรื้อกฎหมาย ปลดล็อกเทศกาลหนัง ไม่ต้องตรวจเซ็นเซอร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือกรณีสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยขอให้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติพิจารณาการจัดรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่เป็นธรรม โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สวธ.ไปหารือแนวทางกับผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์และนำเสนอผลการหารือต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งต่อไป