สพ.รฟ.ร่อนหนังสือ “อนุทิน” ทบทวนด่วนมติคกก.สอบสวนที่ดินเขากระโดง

22 พ.ย. 2567 | 05:02 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 05:08 น.

สมาพันธ์คนงานรถไฟ หรือ สพ.รฟ. ร่อนหนังสือถึง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย ทบทวนมติคณะกรรมการสอบสวนฯ หลังมีมติระบุการรถไฟฯ ไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นเจ้าของพื้นที่เขากระโดง ชี้มีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน

ประเด็นข้อพิพาทพื้นที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมที่ดิน ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของ สมาพันธ์คนงานรถไฟ หรือ สพ.รฟ. โดยนายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสพ.รฟ. ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เพื่อขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการที่ให้ยุติการเพิกถอนเอกสารสิทธิพื้นที่เขากระโดงของการถไฟฯ 

สาระสำคัญของหนังสือฉบับนี้ มีเนื้อหาระบุว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครอง พิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยอ้างการรถไฟฯ ไม่มีหลักฐานชัดเจนในการเป็นเจ้าของพื้นที่เขากระโดง และให้ยุติเรื่องในกรณีนั้น

สพ.รฟ. ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทาน พื้นที่เขากระโดงให้กรมรถไฟหลวง และให้การรถไฟฯ ใช้ทรัพยากรไม้และหินในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ไปสร้างทางรถไฟ ระหว่างนครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชบัญญัติการจัดวางรางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ให้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทางรถไฟและพื้นที่ก่อสร้างอื่น ๆ โดยมิให้ผู้ใดมาครอบครองที่ดินของการรถไฟฯ ได้ เสมือนเป็นที่ราชพัสดุ 

ต่อมาได้มีประชาชนบุกรุกเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ โดยที่การรถไฟฯ มิได้วางเฉย ได้มีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ ตรวจสอบตลอดมา ดังปี พ.ศ. 2509 จนมีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินเขากระโดง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา และมีบางรายนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปออกเอกสารสิทธิ จนนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับการรถไฟฯ จึงมีการนำเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ 

สรุปให้ความเห็นว่า พื้นที่เขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ และมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดพื้นที่เขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ และมีผู้กระทำความผิดทางอาญาหลายคนแต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เนื่องจากคดีหมดอายุความ 

ต่อมา ได้มีคำตัดสินคำพิพากษา ของศาลฎีกา 842-876/2560, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563, คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ต่างพิพากษาให้ พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ 

ดังนั้น เอกสารสิทธิที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ จึงเป็นเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดวางรางแลทางหลวง พ.ศ.2464 การรถไฟฯ จึงนำสาเหตุนี้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีการสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยมิชอบ 

ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขา กระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาอ้างถึง ข้อ 4,5 และข้อ 6 

คณะกรรมการตามมาตรา 61 ได้แต่งตั้งอนุกรรมการในตรวจสอบ รังวัด เพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินแต่ละแปลงและรายงานให้คณะกรรมการตามมาตรา 61 ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิแต่ละราย แต่คณะกรรมการตามมาตรา 61 มิได้ปฏิบัติตามพิพากษาศาลฎีกา ถือว่าที่สุด แต่กลับมีมติเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหรือแก้ไขเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของการรถไฟฯ นั้นโดยมีผลกระทบต่อสถานภาพสิทธิของการรถไฟฯ

พื้นที่เขากระโดงได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิชัดเจนแล้วว่าพื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟฯ ดังจะดู รายละเอียดได้จากหลักฐานการพิพากษาของศาลฎีกาและศาลอุธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ และความเห็นของกฤษฎีกาและแผนที่พื้นที่เขากระโดงของการรถไฟนั้น ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 

รวมทั้งกำหนดกรรมสิทธิชัดเจนตามพระราชบัญญัติการจัดวางรางแลทางรถไฟ และแผนที่ทหาร จึงไม่จำเป็นที่ต้องนำมาพิสูจน์สิทธิอีก เพียงแต่คณะกรรมการตรวจสอบดูรายละเอียดเป็นรายแปลง เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง และการที่มติคณะกรรมการตามมาตรา 61 มีมติดังกล่าวนั้น 

จึงเป็นการละเมิดคำตัดสินของศาลฎีกาและขัดต่อพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง กรมที่ดินอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอให้ท่านมีบัญชาให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดสั่งการให้ทบทวนมติคณะกรรมการดังกล่าวด้วย