จากกรณีที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบคำถามกลับกรณีการกู้เงิน ภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติเห็นชอบเป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. และ คณะกรรมการที่จะดำเนินการกู้เงิน ภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทได้ โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัลฯ ยืนยันว่าโครงการจะเดินหน้าเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม 2567
ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเรื่องโครงการดิจิตอลวอลเล็ตว่า รัฐบาลควรเปิดเผยคำถาม คำตอบ ที่สอบถามกฤษฏีกาไปไม่ควรเก็บเป็นความลับ เพราะเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ถึง 5 แสนล้านบาทให้กับประเทศในอนาคต คนไทยทั้งประเทศควรมีสิทธิ์รับรู้ และไม่ว่ากฤษฎีกาจะตอบว่าอย่างไร กฤษฎีกาก็ยังเป็นแค่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล แต่การตัดสินใจเป็นของรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจหรือในทางกฎหมายตามมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ตัดสินใจและในฐานะเจ้าของนโยบาย
อย่างไรก็ตามต้องรอดูว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร จะยังยืนยันเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินอยู่หรือไม่ ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจะตัดสินใจไปเสี่ยงเอาดาบหน้าหรือไม่ ซึ่งมีอย่างน้อย 7 ปม ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบทั้งใน ข้อกฎหมายและในทางเศรษฐกิจ คือ
1.จำเป็นหรือไม่
2.เร่งด่วนหรือไม่
3.ต่อเนื่องหรือไม่
4.วิกฤติหรือไม่
5.ไม่สามารถตั้งเงินก้อนนี้ไว้ในงบประจำปีได้ทันใช่หรือไม่
6.มีความคุ้มค่าหรือไม่
และ 7. ได้รับฟังความคิดเห็นโดยรอบด้านแล้วใช่หรือไม่.