กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ” ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2567 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด
ได้แก่ ภาคตะวันตก – จังหวัดกาญจนบุรี , ภาคเหนือ - จังหวัดพะเยา , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – จังหวัดอุบลราชธานี , ภาคกลาง - จังหวัดนครนายก , ภาคตะวันออก - จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ – จังหวัดสตูล รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนัก/กองที่เกี่ยวข้องของกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สามารถดำเนินการออกแบบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายได้ และเกิดการสร้างเครือข่าย ประสานงานแบบบูรณาการ
การทำงานร่วมกันที่สอดคล้องกับแนวคิด วัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดและประสบการณ์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การประชุมและการฝึกปฏิบัติในครั้งนี้ เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน มีการการถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ให้แก่ผู้ร่วมประชุมฝึกปฏิบัติ จากวิทยากรผู้มีความสามารถหลายท่าน โดยวันที่8 มกราคม 2567ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายของการประชุมฝึกปฏิบัติ หลังจากฝึกปฏิบัติร่วมกันมา 3 วัน ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสามารถนำเสนอผลงานออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ โดยการน้อมนําศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ต่อผู้มีส่วนได้เสีย 6 พื้นที่ ดังนี้
จังหวัดพะเยา ได้นำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “จากนภา ผ่านภูผา เลียบทุ่งนา สู่มหานที” มาออกแบบพื้นที่ แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า นาขั้นบันได ผักสวนครัว พัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ควายไทยควบคู่กับการฟื้นฟูดิน พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาและนวัตกรรมจังหวัดอุบลราชธานี
ได้นำหลัก บวร มาออกแบบพื้นที่ นำทฤษฎีใหม่มาพัฒนาบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า คน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการใช้อารยธรรมที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ร่วมกับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีศาสตร์พระราชา ในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด ทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายในชุมชน มีการบูรณาการงานวิชาการ งานวิชาชีพ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาพื้นที่เป็นวิชชาลัยอารยเกษตรบ้านวังอ้อ
จังหวัดสตูล แนวคิดในการออกแบบ คือการนำทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่การท่องเที่ยวจังหวัดสตูล พื้นที่ต้องพึ่งพาตนเองได้ มีกิน มีใช้ มีรายได้ โดยการรักษาของเดิม เพิ่มเติมของใหม่ ปรับปรุงสภาพดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว
จังหวัดนครนายก แนวคิดในการออกแบบพื้นที่ คือ ลานธรรมกลางใจป่า ปลูกป่ากลางใจคน พุทธอารยเกษตร แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน 10 ส่วน 1. สำนักงานประชาสัมพันธ์โครงการพุทธอารยเกษตร 2. ลาน Plaza 3. จุดเชื่อมโยงสายตานำพาไปสู่เป้าหมาย 4. สวนดอกไม้ 5. สวน 6 ดาวเด่น 6. Shop-Spa-Thai Massage 7. ลานสักธรรม 8. ส่วนเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ 9. พื้นที่กักเก็บน้ำ แปลงนาทดลอง และคันนาทองคำ 10. พื้นที่ผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์
จังหวัดจันทบุรี แนวคิดในการออกแบบคือ “น้ำ เกษตรประณีต ทฤษฎีในหลวง” แบ่งพื้นที่ 4 ส่วน คือ 1. ส่วนบริการ 2. พื้นที่เก็บน้ำ (แก้มลิง) โดยจะมีการปลูกต้นรวงทองเป็นจุดLandmark ตรงกลางพื้นที่ 3. พื้นที่ป่าไม้ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 4. พื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืช/สัตว์ มีโรงเลี้ยงสัตว์ปีก เลี้ยงปลา แปลงเกษตรตัวอย่าง โดยระหว่างดำเนินโครงการจะมีการประสานงานบูรณาการขอแหล่งน้ำสำรอง เพื่อใช้ในพื้นที่
จังหวัดกาญจนบุรี พัฒนาพื้นที่เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา สร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร พื้นที่สาธารณะ และศูนย์การเรียนรู้สู่การพึ่งพาตนเองได้ ขยายผลให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริอารยเกษตรสู่ประชาชน แบ่งพื้นที่ 6 ส่วน 1. พื้นที่แห่งการเรียนรู้ศึกษาและการต่อยอดอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า 2. พื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 3. โคก หนอง นา ตามแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ 4. ลานวัฒนธรรมมีชีวิต 5. พื้นที่อาคารอำนวยการ ฝึกอบรม และฐานการเรียนรู้ 6. ส่วนบริการ
โดยผู้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้นำเสนอร่างการออกแบบพื้นที่โครงการ 6 พื้นที่ ต่อผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อแสนแนะต่าง ๆ นำมาบูรณาการร่วมกันในพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถออกแบบพื้นที่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (แก้มลิง) แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริได้ และต่อยอดนำองค์ความรู้ไปพัฒนาใน 6 พื้นที่
เพื่อพัฒนาและบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง และช่วยเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ชุมชน พื้นที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการพัฒนาพื้นที่แบบอารยเกษตร ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ