เปิดความเห็น 3 หน่วยงานนิยาม “วิกฤตเศรษฐกิจ” ชี้ขาดเงินดิจิทัล

14 ม.ค. 2567 | 02:15 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2567 | 03:05 น.

นิยามคำว่า “วิกฤตเศรษฐกิจ” หรือ “ไม่วิกฤต” ยังคงถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง-เป็นวงกว้าง หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 แทงกั๊ก-ไม่ฟันธงว่า รัฐบาลสามารถออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน เงินดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาทได้หรือไม่

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั่งเป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ตัวแทนจาก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ได้ตอบคำถามคณะกรรมาธิการฯ ที่ให้นิยามคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" ควรจะใช้ตัวชีวัดใดเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนี้

แบงก์ชาติ : การพิจารณาถึงความเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาบนพื้นฐานจากการประมวลข้อมูลของธนาคารโลก หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ระบุว่าเศรษฐกิจที่จะอยู่ในภาวะวิกฤตต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลก สามารถสรุปได้ 5 ประเภท ได้แก่ 

1.วิกฤตภาคการเงินและสถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนสูงมาก กระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อธนาคารพาณิชย์ การปิดตัวลงของธนาคาร 

2.วิกฤตดุลการชำระเงิน มีเงินทุนไหลออกรุนแรง ค่าเงินมีความผันผวนรุนแรง สินทรัพย์ในประเทศถูกถอนออกจากการลงทุน  

3.วิกฤตการคลัง 

4.วิกฤตเงินเฟ้อ ซึ่งมีภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นรวดเร็วเป็นเวลานาน และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งถ้าดูตัวเลขของประเทศไทยก็ยังอยู่ในกรอบของคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน 

5.วิกฤตที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด  ซึ่งพอจะเป็นตัวอย่างของวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ วิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การตราพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด และปัญหาอุทกภัย ซึ่งเวลานั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยติดลบอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน

สภาพัฒน์ : การกำหนดนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อัตราการถดถอยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งต้องพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดและต้องหารือกับ หน่วยงานทางเศรษฐกิจทุกหน่วยงานเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน

กระทรวงคลัง : สำหรับการนิยามคำว่าวิกฤตเศรษฐกิจนั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอะไร เพราะวิกฤตเศรษฐกิจมีหลายกรณี เช่น วิกฤติด้านทุนสำรอง เศรษฐกิจตกต่ำ

แต่ถ้าในมุมมองของกระทรวงการคลัง ปัจจัยที่จะแสดงให้เห็นถึงวิกฤตทางการคลัง คือ จำนวนเงินคงคลังที่เหลืออยู่ ความสามารถในการหารายได้เพียงพอกับรายจ่ายที่รัฐบาลต้องใช้หรือไม่

สำนักงบประมาณ : ไม่ตอบ