หนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12 ได้ตอบกลับกระทรวงการคลังถึงกรณีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาทได้หรือไม่ กลายเป็นตัวล็อกสำคัญที่จะทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังไม่สามารถเดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้อีกต่อไป
ทั้งนีี้ประเด็นสำคัญในหนังสือตอบความเห็นของกฤษฎีกาที่เป็นหัวใจในเรื่องนี้ อยู่ตรงวรรคสุดท้ายของหนังสือคือ “ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่น ต้องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตของประเทศ หรือต้องเป็นไปตาม มาตรา 53 มาตรา 57 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินนัยการเงินการคลังฯ
"หากสามารถตอบเงื่อนทั้งหมดได้ก็สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้"
ส่วนการตีความว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤต ต่อเนื่องและจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีตัวเลขเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และ สำนักงบประมาณ
ดังนั้นด้วยความเห็นดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไม่สามารถไปต่อได้ จึงจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงต่างประเทศ,นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการ ขณะที่กรรมการและเลขานุการร่วมคือ ปลัดกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ก็เพื่อยื้อเวลาที่จะรอผลสรุปของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีรายชื่อคณะกรรมการ 31 คน โดยมีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานกรรมการและนางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นรองประธานกรรมการ โดยน.ส.สุภา ต้องเร่งสรุปภายใน 1-2 วันนี้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่ง จากที่ครบวาระ 9 ปีไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566
“รัฐบาลรู้ตั้งแต่เห็นหนักสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าไปต่อยาก แต่ต้องทอดเวลาไว้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้หายใจและเกิดความชอบธรรมที่จะยุติการกู้เงินและมีที่พิงหลัง อย่างผลสรุปของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่จะเป็นทั้งตัวสแตมป์และที่พิงอย่างดี เพราะหากยังยืนยันจะเดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านบาท ก็ยังมีด่านป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญอีกที่รัฐบาลยังต้องเผชิญ”แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 ต่อไป ซึ่งเมื่อได้รับรายงานจากคณะอนุฯ ตามที่มอบหมายแล้ว บอร์ดชุดใหญ่ก็จะมีมติยกเลิกการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่จะใช้วิธีการบริหารงบประมาณแทน โดยจะใช้วิธีตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 แทน ซึ่งจะมีการจัดทำในเดือนพฤษภาคม 2567 และจะลดวงเงินเหลือไม่เกิน 3 แสนล้านบาท
สำหรับมาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรและพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคมและต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ขณะที่มาตรา 7 บัญญัติว่า การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดำเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย
ส่วนมาตรา 9 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ
รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจจองประเทศและประชาชนในระยะยาว
มาตรา 53 ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น
เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงาจของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ส่วนมาตรา 57 บัญญัติว่า การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทำได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,957 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2567