ความคืบหน้า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาท ยังคงอยู่ในทางตัน แม้ว่าโครงการยักษ์นี้ จะได้เอกชนคู่สัญญาของรัฐเข้ามาทำการก่อสร้างโครงการแล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปมปัญหาการแก้ไขสัญญา หลังเกิดสถานการณ์โควิด เมื่อปี 2563 จนกระทบกับเอกชนผู้รับสัมปทาน
ทั้งนี้นอกจากเรื่องการแก้ไขสัญญาจะยังไม่สะเด็ดน้ำแล้ว ล่าสุดยังมีอีกปมปัญหาของโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน ผุดขึ้นมาอีก หลังจากบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัทเอกชนคู่สัญญากับรัฐ ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการกำลังจะหมดอายุในวันที่ 22 มกราคม 2567 นี้ด้วย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้บีโอไอได้รับ หนังสืออย่างเป็นทางการจากทางเอกชนเสนอเข้ามาขอต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว และ บีโอไอ ได้ทำหนังสือเพื่อขอสอบถามความเห็นไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อประกอบการพิจารณา
“บีโอไอ ได้สอบถามความเห็นไปยัง 2 หน่วยงาน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน เพื่อประกอบการพิจารณาการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 22 มกราคม 2567 นี้ ตอนนี้ยังรอให้ทั้ง 2 หน่วยงานตอบกลับมาก่อน โดยการพิจารณาต่ออายุนั้นถือว่าเป็นอำนาจของสำนักงานบีโอไอ สามารถจะพิจารณาได้เลย” นายนฤตม์ กล่าว
นายนฤตม์ ยอมรับว่า ในการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนแต่ละครั้งนั้น สำนักงานบีโอไอ จะพิจารณาได้เองตามความเหมาะสม แต่ในโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่ และเป็นโครงการเรือธงของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้สำนักงานบีโอไอ ต้องทำหนังสือไปถึงหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อน เพื่อขอให้ตอบกลับความคิดเห็นของการขยายสัญญากลับมารอีกครั้งว่ามีความเหมาะสม หรือมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง
สำหรับตามกฎหมายกรณีมีเหตุผลและความจำเป็น บีโอไอจะอนุมัติให้ขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริมให้ ไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งจะดำเนินการผ่านระบบงานบัตรส่งเสริม (Promotion Certificate System) หากมีการต่ออายุออกบัตรส่งเสริมครั้งนี้ จะทำให้เอกชนได้รับการขยายเวลารับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567
“ที่ผ่านมาทางเอกชนคู่สัญญาเคยได้รับการเสนอขอต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้ายตามกฎหมาย คือจะขยายเวลาไปถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567” เลขาฯบีโอไอ ระบุ
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มีระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการกว่า 224,544 ล้านบาท นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนข้ามชาติ รวมทั้งยังเป็นโครงการสำคัญที่เชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ด้วย
ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างเตรียมเสนอการแก้ไขร่างสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการกำกับแก้ไขสัญญาฯ ซึ่งตามไทม์ไลน์ จะมีการประชุมภายในวันที่ 12 มกราคม 2567 หลังจากนั้นจะส่งร่างแก้ไขสัญญาฯให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบภายในสัปดาห์หน้า ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน
ทั้งนี้คาดว่า สำนักงานอัยการสูงสุด จะตรวจสอบแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี พิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุทคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาแก้ไขร่างสัญญาฯ ได้ภายในกลางเดือนมีนาคม 2567 ต่อไป