ตรวจการบ้าน “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ก่อน “เศรษฐา” ยกคณะถก ครม.สัญจร

15 ม.ค. 2567 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 10:15 น.

เช็คความพร้อม ตรวจการบ้าน โครงการ “แลนด์บริดจ์” มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ก่อนนายกฯ เศรษฐา ยกคณะลงพื้นที่ ช่วงการประชุมครม.สัญจร จังหวัดระนอง สัปดาห์หน้า

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร นัดที่สอง ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 22-23 มกราคม 2567 นี้ ที่จังหวัดระนอง มีวาระสำคัญเกี่ยวกับการผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งมีแผนการลงทุนรวม 4 ระยะ มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้

ที่ผ่านมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี ปลายปี 2566 แผนการขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์” ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยสรุปรายละเอียดครอบคลุมทั้งเหตุผลความจำเป็นของการผลักดันให้เกิดขึ้นตามนโยบายรัฐบาล รูปแบบการพัฒนา ซึ่งกำหนดองค์ประกอบการลงทุนโครงการสำคัญของโครงการเอาไว้ ทั้งท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล และโครงข่ายเชื่อมโยงระบบราง มอเตอร์เวย์ และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

พร้อมนำผลการศึกษาสำคัญเกี่ยวกับการประมาณการสินค้า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ  ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากดำเนินโครงการ “แลนด์บริดจ์” ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ด้านกฎหมาย เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา หรือการสูญเสียรายได้จากการลงุทนมูลค่านับล้านล้านบาทในครั้งนี้อย่างครบครัน

ก่อนที่รัฐบาลจะนำโครงการ “แลนด์บริดจ์”ไปตระเวนโรดโชว์ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ผ่านการเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ของนายกรัฐมนตรี และคณะอย่างน้อย 2-3 เวที เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และล่าสุดกับการเดินทางไปเยือนเวที World Economic Forum ประจำปี 2024 (WEF 2024) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส  ระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม 2567 นี้

 

ตรวจการบ้าน “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ก่อน “เศรษฐา” ยกคณะถก ครม.สัญจร

 

ความพร้อม “แลนด์บริดจ์” ก่อนถก ครม.สัญจร

การเดินทางลงพื้นที่ของรัฐบาล เพื่อประชุมครม.สัญจร จังหวัดระนอง เดือนมกราคม 2567 นี้ มีวาระเกี่ยวกับการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อหาทางผลักดันโครงการ “แลนด์บริดจ์” อย่างชัดเจน 

ล่าสุด นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ยืนยันว่า ในการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ช่วงประชุมครม.สัญจร จะมีการหารือถึงโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมทั้งตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการด้วยว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่การทำงานในพื้นที่ยังได้มอบหมายให้สส.ที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ช่วยกันลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ด้วย หลังจากพบว่ามีผู้คัดค้านโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร

 

ตรวจการบ้าน “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ก่อน “เศรษฐา” ยกคณะถก ครม.สัญจร

 

ยกร่างกฎหมายตั้งสำนักงาน SEC ดันแลนด์บริดจ์

สำหรับขั้นตอนการผลักดัน โครงการ “แลนด์บริดจ์” ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดรัฐบาลกำลังเตรียมตัวจัดทำร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำกับดูแลโครงการ

จากนั้นจะมีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยแต่ละหน่วยงานเจ้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะรับหน้าที่แยกไปจัดทำ EIA เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ด้านการพัฒนาระบบราง จัดทำโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และด้านการพัฒนามอเตอร์เวย์ จัดทำโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นต้น

รูปแบบการพัฒนา “แลนด์บริดจ์”

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการ “แลนด์บริดจ์” ของรัฐบาล ภายใต้แผนงานกำหนดว่ามีความจำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน นั่นคือ 

1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด  จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร

2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร
  • ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack)
  • ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ
  • พื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ

4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

ทั้งนี้รัฐบาล ประเมินว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่น การประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อนาคต อาหาร กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการขนถ่ายสินค้า 

รวมทั้งยังส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้โดยการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์และโรงแรม รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานบันเทิง และร้านค้าต่าง ๆ ระหว่างเส้นทางโครงการ

โดยตั้งเป้าหมายเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการในลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) ทั้ง ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า

 

ตรวจการบ้าน “แลนด์บริดจ์” 1 ล้านล้าน ก่อน “เศรษฐา” ยกคณะถก ครม.สัญจร

 

ประมาณการลงทุน “แลนด์บริดจ์”

การลงทุนแลนด์บริดจ์ กำหนดประมาณการลงทุนเอาไว้ รวมด้วยกัน 4 เฟส วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท แยกเป็นระยะ ๆ ดังนี้

ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ 522,844 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 118,519 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 141,716 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 195,504 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 60,892 ล้านบาท
  • ค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,212 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุนโครงการ 164,671ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุนโครงการ 228,512 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 73,221 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 39,361 ล้านบาท
  • ระยะที่ 4 ประมาณการลงทุนโครงการ 85,177 ล้านบาท ประกอบด้วย
  • งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 68,280 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 16,897 ล้านบาท