วันนี้ (16 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะวลา 3 เดือน คาดว่าจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะวลา 3 เดือนครั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะทำให้รัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลประมาณ 6,000 ล้านบาท
"ครม.ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร ออกไปอีกเป็นระยะวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระให้กับประชาชน ส่วนน้ำมันเบนซินนั้น ยังไม่ได้พิจารณา" นายจุลพันธ์ ระบุ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การขยายเวลารอบนี้โดยมีการปรับอัตราลงจากเดิม ซึ่งครม.เคยเห็นชอบให้ลดภาษีลง 2.50 บาทต่อลิตร แต่ในรอบนี้เหลือเพียง 1 บาทต่อลิตร เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าเคยช่วยเหลือ 5 บาทต่อลิตร แต่รัฐบาลนี้เข้ามาก็ลดเหลือ 2.50 บาทต่อลิตร และครั้งนี้ก็เหลือ 1 บาทต่อลิตร โดยเป็นไปตามกลไกที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้นั่นคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณรัฐในระยะยาว
“ตอนนี้รัฐบาลกำลังติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง และการอุดหนุนช่วยเหลือในระดับนี้ถือว่าสามารถตรึงราคาค่าพลังงานให้กับประชาชนได้ในระดับที่เหมาะสม”
ต่อมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.ว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
มีสาระสำคัญเป็นการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ประเภทอัตราตามปริมาณ (ลิตร) (ปรับลดประมาณ 1 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2567 จนถึงหลังเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 19 เมษายน 2567
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการมาตรการภาษี โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 (ประมาณ 1 ปี 8 เดือน มีการสูญเสียรายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท โดยในแต่ละครั้ง ปรับอัตราภาษีลดลงแตกต่างกัน) รวม 8 ฉบับ
lesiy[มาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน และที่ผ่านมา รัฐบาล ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงการคลัง ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร
โดยก่อนหน้านี้ กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2566 (ปรับลดประมาณ 2.50 บาท/ลิตร) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 66 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66
โดยเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกช่วยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ในครั้งนี้ จึงเห็นควรดำเนินมาตรการทางภาษีต่อเนื่อง โดยการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน ร่วมกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าวประมาณ 1 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 19 เม.ย. 67
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยรายงานว่า การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท/เดือน (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบฯ 66)
โดยการดำเนินการตามมาตรการภาษีในครั้งนี้จะดำเนินการเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบค่าครองชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ
“มาตรการครั้งนี้ เป็นการยืดระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงานระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น ทาง พน. ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะ “รื้อ - ลด - ปลด - สร้าง” ด้วยการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2567 นี้อย่างแน่นอน” รองรัดเกล้า กล่าว