ปักหมุดปี 67 “กรมราง” ดันสายสีชมพู-สายสีเหลือง รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

17 ม.ค. 2567 | 08:53 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 09:50 น.

“กรมราง” เปิดรับฟังความเห็นรอบ 3 ลุยศึกษาค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จ่อชงคมนาคม ดันรถไฟฟ้าสีเหลือง-ชมพู รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือน ก.พ.นี้ คาดประชาชนเริ่มใช้บริการภายในปี 67

นายพิเชฐ  คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ว่า การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะสรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด เสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จะสามารถใช้ได้หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง พ.ศ.... ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี ผ่านการพิจารณา

ปักหมุดปี 67 “กรมราง” ดันสายสีชมพู-สายสีเหลือง รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการดำเนินตามมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยได้นำร่องรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ พบว่าตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน มีปริมาณผู้โดยสาร ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 12% และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ ปริมาณผู้โดยสาร สีม่วง ในวันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้น 5% และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพิ่มขึ้น 12%

 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับค่าเฉลี่ยการเดินทางดังกล่าว ถือว่ามียอดผู้โดยสารใช้งานเกิดคาดกว่าที่กรมฯ ประเมินไว้ ส่งผลให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง สูญเสียรายได้ลดลง 25% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะสูญเสียรายได้ทั้งหมด ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี  โดยมั่นใจว่าหากหลังจากนี้ 9 เดือนที่เหลือ มีผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้น จะทำให้ชดเชยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีการเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้
 

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นของประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับการจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิด 42 บาทต่อเที่ยว เฉลี่ยการเดินทางต่อเที่ยวอยู่ 13 กิโลเมตร (กม.) 

 

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า โดยกรมฯ คาดว่าภายในปี 2567 นี้ จะสามารถดำเนินมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เนื่องจากพบว่าปริมาณผู้โดยสารของทั้ง 2 เส้นทาง ยังมีไม่มาก หรือยังมีจำนวนไม่เกิน 3-4 แสนคนต่อวัน ทำให้สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ง่าย ซึ่งจะใช้วิธีให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชดเชยรายได้ให่แก่เอกชนเช่นเดิม 

ปักหมุดปี 67 “กรมราง” ดันสายสีชมพู-สายสีเหลือง รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

“เบื้องต้นได้มีการสอบถามไปยังภาคเอกชน ซึ่งเอกชนไม่ได้ขัดข้องกับการให้ความร่วมมือในมาตรการดังกล่าว แต่รัฐบาลต้องเคารพสัญญาสัมปทานเดิมของเอกชน ส่วนการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้กับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น จากการศึกษาในครั้งนี้ กรมฯจะมุ่งเน้นไปที่โครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ในอนาคตก่อน ส่วนโครงรถไฟฟ้าในปัจจุบัน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังติดสัญญาสัมปทานระหว่างเอกชนและกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงทำให้ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้” นายพิเชฐ กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ มีเสนอว่าหากในอนาคตการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ควรให้รัฐเป็นเจ้าของรายได้และมอบหมายให้เอกชนเป็นตัวแทนจัดเก็บรายได้เพื่อนำส่งรัฐคล้ายกับรูปแบบที่รฟม.บริหารรถไฟๆฟ้าสายสีม่วง โดยดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน (PPP Gross Cost) 

ปักหมุดปี 67 “กรมราง” ดันสายสีชมพู-สายสีเหลือง รับนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

นายพิเชฐ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีแผนจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน ในอัตราเพิ่มขึ้น 0.50 บาท เฉพาะสถานีมันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปีมณฑล เพื่อนำเงินมาสนับสนุนเข้ากองทุนตั๋วร่วม ซึ่งจะทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย นั้น กรมฯ มองว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นแผนระยะยาว ของพ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยใช้วิธีการให้ รฟม.ชดเชยรายได้ให้กับเอกชนต่อไป