“อียู”หงายไพ่ถก FTA บีบเปิดเสรีแบบไร้เงื่อนไข ไทยเตรียมแผนถกรอบ 3

31 ม.ค. 2567 | 04:53 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 08:58 น.

เจรจาเอฟทีไอไทย-อียูรอบ 2 เพิ่มดีกรีเข้ม 19 คณะแลกเปลี่ยนข้อมูล เปิดไพ่ความต้องการของทั้งสองฝ่าย เผยอียูรุกหนัก ดันต้นแบบ FTA ที่ทำกับเวียดนามเรียกร้องไทย พร้อมถกรอบ 3 ที่เบลเยียม ชี้ผลศึกษาหากช่วยดันจีดีพีไทยโตปีละ 1.28% “เยอรมัน”เบอร์ 1 คู่ค้าไทยปี 66 กว่า 3.6 แสนล้าน

KEY

POINTS

  • ความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA)ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) รอบที่ 2 ณ ประเทศไทย
  • การเจรจาทวีความเข้มข้น โดยทั้งสองฝ่ายเปิดข้อมูล/รายละเอียดที่เกี่ยวเนื่องกับกรอบการเจรจาแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
  • เปิดข้อมูล ประเทศใดเป็นคู่ค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรกของไทยในสหภาพยุโรป  

หนึ่งในข่าวดีของประเทศไทย ณ เวลานี้ คือการที่ไทยและศรีลังกาสามารถเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้สำเร็จ สามารถปิดดีลได้ตามเป้าหมาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่ออนุมัติการลงนามความตกลงในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่ง FTAไทย-ศรีลังกาจะเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย หลังจากที่ไทยยังคงมี FTA เพียง 14 ฉบับกับ18 ประเทศมานานกว่า 10 ปี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันมานาน

ทั้งนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 3-4 ก.พ.นี้ ตามคำเชิญของนายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา เพื่อเป็นแขกเกียรติยศในโอกาสวันเอกราชศรีลังกาครั้งที่ 76 และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกาโดย FTA ไทย-ศรีลังกาถือเป็น FTA ฉบับแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“อียู”หงายไพ่ถก FTA บีบเปิดเสรีแบบไร้เงื่อนไข ไทยเตรียมแผนถกรอบ 3

ถก FTA ไทย-อียูรอบ 2 เข้ม

ขณะที่การเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีถึง 27 ประเทศ และเป็นคู่ค้า อันดับ 4 ของไทยในปีที่ผ่านมา (รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ไม่รวมอาเซียน) เป็นอีกหนึ่ง FTA ใหญ่ของไทยที่ตั้งความหวังจะเจรจาให้สำเร็จ และสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 2 ปี (ภายในปี 2568) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดอียู ซึ่งในการประชุมเจรจารอบที่ 2 ในไทยได้เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป(อียู)รอบที่ 2 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ได้มีการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะใน 19 ประเด็นของกรอบการเจรจา

ประกอบด้วย การค้าสินค้า, กฎถิ่นกําเนิดสินค้า, พิธีการศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า, มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS), อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT), การค้าบริการและการลงทุน, การค้าดิจิทัล, ทรัพย์สินทางปัญญา, การแข่งขันและการอุดหนุน, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), รัฐวิสาหกิจ, พลังงานและวัตถุดิบ, ระบบอาหารที่ยั่งยืน, ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ, การระงับข้อพิพาท และ บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น

ทั้งนี้ในภาพรวมของการเจรจาที่ยังเป็นรอบแรก ๆ ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในแต่ละประเด็นของกรอบเจรจาเพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องที่จะเจรจากัน รวมถึงในบางประเด็นที่แต่ละฝ่ายเคยจัดทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ โดยในส่วนของอียูได้หยิบยกตัวอย่างที่เคยได้เจรจาและจัดทำความตกลงแล้ว เช่น FTA สหภาพยุโรป-เวียดนามเพื่อเป็นแนวทางในการเจรจากับไทย

“การเจรจาในรอบที่ 2 นี้ ยังเป็นการพูดคุยกันในแต่ละคณะของ working group ในแต่ละประเด็นของกรอบการเจรจา ซึ่งการเจรจากันเป็นไปด้วยดี แต่ก็ทำให้เห็นท่าทีของแต่ละฝ่าย ที่เราต้องเจรจาด้วยความระมัดระวัง เป็นเพราะเอฟทีเอที่อยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาชน เอ็นจีโอ ซึ่งในรายละเอียดในเชิงลึกของการเจรจายังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ในตอนนี้”

  • ดึงทุกหน่วยงานร่วมวง

อย่างไรก็ดีในการเจรจาครั้งนี้ฝ่ายไทยได้มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นเข้าร่วมประชุมเจรจาอย่างพร้อมเพรียง เช่น จากกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

หลังจากนี้ทางกรมฯจะได้สรุปข้อมูลภาพรวมการเจรจานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เพื่อรับทราบต่อไป รวมถึงจะเชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการประชุมสรุปผลความคืบหน้าการเจรจาในรอบที่ 2 ขณะที่ต้องเตรียมแผนสำหรับการเจรจา FTA ไทย-อียูในรอบที่ 3 ที่อียูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอีกรอบในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งในปีนี้คงไม่เพิ่มรอบการเจรจาไปมากกว่านี้ เพราะหากทั้งสองฝ่ายมีข้อสงสัยในแต่ละประเด็นก็สามารถคุยกันผ่านระบบทางไกลได้อยู่แล้ว

  • เพิ่มจีดีพีไทย 1.28% ต่อปี

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษา (โดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา หรือ IFD) หากไทยมีการจัดทำความตกลง FTA กับอียูได้สำเร็จจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีขยายตัว 1.28% ต่อปี การส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.83% ต่อปี(2.16 แสนล้านบาท) การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81% ต่อปี (2.09 แสนล้านบาท)

โดยสินค้าที่ไทยมีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้มากขึ้น เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่มห่มและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยางพารา และพลาสติก เป็นต้น รวมถึงจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากอียูเข้าไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันจาก FTA ที่ทำกับอียูเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงจะช่วยยกระดับกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น ด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้านต่าง ๆ

  • อียูหวังร่วมจัดซื้อจัดจ้าง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่อียูได้แสดงท่าทีขอให้ไทยเปิดเสรีแบบไร้เงื่อนไข ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องจับตามอง เพราะในกรณี FTA สหภาพยุโรป-เวียดนาม เวียดนามได้เปิดให้บริษัทจากสหภาพยุโรปมีสิทธิในการเข้าร่วมประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเทียบเท่ากับบริษัทท้องถิ่น และมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นในภาคบริการสำคัญหลายสาขา

“ในหลักการเจรจาเอฟทีเอคือต้อง วิน วินทั้งคู่ ไม่มีใครชนะ หรือแพ้หมดทุกอย่าง เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ยกตัวอย่างเราอยากให้เขาลดภาษีสินค้าเกษตร สินค้าอาหาร เพื่อเข้าถึงตลาดของเขาได้มากขึ้น ในส่วนของเราก็ต้องลดให้เขาด้วย ดังนั้นผู้มีส่วนได้เสียในประเทศของเราต้องคุยกันให้ตกผลึกก่อน ว่าเราจะยอมอะไรเขาได้บ้าง หากไม่ยอมจะขอระยะเวลาปรับตัวอย่างไร”

  • เยอรมันคู่ค้าเบอร์ 1 ไทย

ขณะที่จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงการค้าไทย-สหภาพยุโรป หรืออียูที่มีสมาชิก 27 ประเทศ (ไม่รวมสหราชอาณาจักร)ในปี 2566 ไทย-อียู มีมูลค่าการค้ารวม 1.44 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.81% โดยไทยส่งออก 752,370.66 ล้านบาท ลดลง 4.84% เมื่อเทียบกับปีก่อน และไทยนำเข้า 688,874.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.82% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยยังเกินดุลการค้าอียู 63,496.15 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

สำหรับคู่ค้ารายใหญ่ 5 อันดับแรกของไทยในตลาดอียูในปี 2566 อันดับ1 เยอรมนี มีมูลค่าการค้ารวม 369,460.21 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 154,058.68 ล้านบาท และนำเข้า 215,401.53 ล้านบาท, อันดับ 2 เนเธอร์แลนด์ มูลค่าการค้ารวม 236,702.47 ล้านบาท โดยไทยนำเข้า 201,089.24 ล้านบาท และนำเข้า 35,613.23 ล้านบาท, อันดับ 3 ฝรั่งเศส มูลค่าการค้ารวม 183,731.78 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 66,783.34 ล้านบาท นำเข้า 116,948.44 ล้านบาท, อันดับ 4 อิตาลี มูลค่าการค้ารวม 175,520.27 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 72,237.31 ล้านบาท นำเข้า 103,282.97 ล้านบาท และอันดับ 5 เบลเยียม มูลค่าการค้ารวม 82,536.99 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 57,560.99 ล้านบาท นำเข้า 24,976.00 ล้านบาท