วันนี้ (16 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่าด้วยข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ โดยสภานโยบายการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือเงื่อนไข OFFSET จะเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อรองรับการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ หรือ FTA ครั้งที่ 2 หรือ เอฟทีเอไทย-ยุโรป (EU) ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ที่กรุงเทพมหานคร
"ไทยจำเป็นต้องมีนโยบาย Offset ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมก่อนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ครั้งที่ 2 ซึ่งการเจรจาครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายนปี 66 เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐกับกลุ่มประเทศอียูจะต้องไม่มีการกำหนดเงื่อนไข ต้องไม่มีการกำหนด Offset เพราะเป็นกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) เว้นไว้แต่ ประเทศไทยมีเงื่อนไข มี Offset วางไว้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น อว.จึงได้เสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมครม.เพื่ออนุมัติ"นายชัยกล่าว
นายชัยกล่าวว่า อว.เสนอเงื่อน Offset จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เงื่อนไขว่าด้วยการลงทุนในไทย 2.เงื่อนไขการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในไทย 3.การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะให้บุคลากรไทย ไม่นับรวมการดูงานในต่างประเทศ 4.การร่วมผลิตกับไทย และ 5.การให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น การใช้แรงงานไทย การใช้วัสดุหรือสิ้นค้าไทยในประเทศ
"เงื่อนไข 5 ข้อนี้ ให้ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้งบประมาณของภาครัฐล้วน ๆ หรือ การใช้งบประมาณของภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป"นายชัยกล่าว
นายชัยกล่าวว่า โดยให้ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่าด้วยอุตสาหกรรมวัสดุ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอวกาศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและบรรเทาสาธารณะภัย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมพลังงาน ขณะที่เทคโนโลยีเป้าหมายให้ครอบคลุมจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุและนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีพลังงาน และเทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีการสัญจร
นายชัยกล่าวว่า ประโยชน์ที่จะได้รับ 1.การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม 2.การพัฒนาเทคโนโลยี 3.การลงทุน ดึงนักลงทุนจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น และอว.ประเมินว่า จะส่งผลต่อจีดีพีของไทย 105,000 ล้านบาท อว.ภายใน 5 ปี
นายชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่กระทรวงอื่น ๆ ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะเริ่มได้เมื่อไหร่ แต่กระทรวงอื่นมีความกังวลใจว่า เวลาถึงคิวต้องไปเจรจา บางทีอาจจะไม่อยากมีเงื่อนไข อยากจะเจรจาให้จบไว ๆ แต่กังวลในเรื่องนี้ หรือกระทรวงอื่นอยากจะกำหนดมากกว่านี้ เพราะกลัวจะถูกกำหนดไว้โดย อว.ที่เป็นผู้เสนอ ที่ประชุมจึงอนุมัติ แต่เวลาไปเขียน เขียนให้สามารถมีทางออกได้ด้วย
"เข้าใจว่าก็ยังไม่จบอยู่ดี เพราะการเจรจาเอฟทีเอคงจะเจรจาหลายรอบ เราจึงต้องรีบออกเงื่อนไข Offset นี้ให้เร็ว เพราะก่อนที่เราจะ finalize เอฟทีเอ เกิดเรามี Offset เรียบร้อย เขาจะถือว่า เรามีอยู่ก่อนแล้ว อว.ก็ถือว่านำร่องมาก่อน โดยร่วมกับกระทรวงการคลังรีบออกประกาศ แต่การเจรจาครั้งที่ 2 ยังไม่จบ ยังต้องเจรจาอีกหลายรอบ เป็นการชิงเหลี่ยมกันหน่อย เพื่อให้ไทยเกิดความได้เปรียบ"นายชัยกล่าว