KEY
POINTS
การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติมของไทยถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนได้เรียกร้องมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากปัจจุบันไทยมี FTA เพียง 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เทียบกับประเทศคู่แข่งขัน เช่น สิงคโปร์มี 28 ฉบับกับ 65 ประเทศ เวียดนาม 16 ฉบับกับ 54 ประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศมีเอฟทีเอกับอียู ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน เข้าถึงตลาดอียูเหนือไทย
ล่าสุดไทยได้มีการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 27 ประเทศในรอบที่ 2 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียยังต้องลุ้นว่าเป้าหมายของไทยที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 2 ปี ใน 19 ประเด็นการเจรจา ผลจะออกมาเช่นไร ไทยจะได้คุ้มเสียหรือไม่ อย่างไรก็ดีในมุมมองของผู้นำสถาบันหลักภาคเอกชนได้ออกมาสนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้สำเร็จ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีความคาดหวังการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะประสบความสำเร็จ เพื่อขยายการค้า การลงทุน รวมถึงความมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกันให้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการลดภาษีสินค้า และการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เข้าถึงตลาดระหว่างกันจะช่วยเพิ่มแต้มต่อสินค้าไทยส่งออกไปยังตลาดอียูได้มากขึ้น
“ในส่วนของประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างที่อียูต้องการให้ไทยเปิดเสรีแบบไม่มีเงื่อนไข อียูอาจจะมาพูดทำนองว่าเครื่องหมาย MiT (สินค้า Made in Thailand) อยากให้ไทยยกเลิก เพราะเป็นการกีดกันการเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของไทย ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้กีดกัน ไทยเปิดให้ทุกคน รวมถึงอียูสามารถเข้ามาตั้งโรงงานหรือมาผลิตสินค้าในไทยได้ อย่างจีนเขาก็มาลงทุนในไทยก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมตรงนี้ได้”
ส่วนข้อกังวลที่อียูอาจจะนำหลายประเด็น จากที่ได้เจรจาเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามสำเร็จและความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว มาใช้ในเจรจาต่อรองกับไทยเพื่อให้เปิดเสรีด้านต่าง ๆ ในระดับเดียวกับเวียดนาม หรือมากกว่านั้น มองว่าไทยและเวียดนามมีประเด็นอ่อนไหวที่แตกต่างกัน การที่จะเรียกร้องให้ไทยทำเหมือนเวียดนามคงจะไม่ใช่ ทั้งนี้การเจรจาเอฟทีเอเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่ทำอย่างไรจะวิน วิน ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็ต้องมีมาตรการเยียวยา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งไทยและอียูต่างมุ่งหวังการเจรจาเอฟทีเอครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ จากที่สะดุดลงมาตั้งแต่ปี 2557 (จากไทยมีรัฐประหาร) เวลานี้ไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากเจรจาสำเร็จในรัฐบาลนี้ก็จะถือเป็นผลงานที่สำคัญของรัฐบาลด้วย ซึ่งในหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลของไทย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐสามารถเจรจาขอเวลาในการปรับตัวได้
“หากลงนามเอฟทีเอไทย-อียูสำเร็จจะช่วยไทยได้มาก เพราะเวลานี้สินค้าส่งออกไทยไปตลาดอียู เสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากเวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว จากมีต้นทุนภาษีนำเข้าที่เสียเปรียบ”
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า อียูเป็นตลาดที่ผู้ส่งออกไทยคาดหวังมากว่าจะมีเอฟทีเอระหว่างกัน หลังจากสินค้าไทยถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ไปตั้งแต่ปี 2558 ทำให้สินค้าไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง หากไทยมีเอฟทีเอกับอียูที่มีสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ สินค้าไทยจะสามารถส่งออกไปตลาดอียูที่เป็นตลาดส่งออกสัดส่วนประมาณ 7-8% ของไทยได้มากขึ้น
อนึ่ง การประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7.การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขันและการอุดหนุน
11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14.รัฐวิสาหกิจ 15.พลังงานและวัตถุดิบ 16.ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17.ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18.การระงับข้อพิพาท และ 19.บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น