ธีรชัย หนุนแลนด์บริดจ์ แนะเพิ่มทักษะแรงงานรับย้ายฐานผลิต

31 ม.ค. 2567 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 12:44 น.

”ธีรชัย“ อดีตรมว.คลัง มองโอกาส-ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก แนะไทยปรับตัว เพิ่มทักษะแรงงานรับการย้ายฐานผลิต หนุนดันแลนด์บริดจ์ ตามทิศทางการค้าระดับภูมิภาค

นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในงานสัมมนา GEOPOLITICS 2024  หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกวิกฤต” ว่า มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะกรณีที่ขณะนี้ จีนมีระดับจีดีพีที่ใหญ่ขึ้นมาก เรียกว่า หายใจรดต้นคอสหรัฐ ทำให้ปัญหาการเลือกข้างของประเทศต่างๆ รวมถึง ไทยเอง มีความเข้มข้นขึ้น

นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หากมองถึงการเลือกตั้งในสหรัฐที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ สองพรรคคู่แข่งในสหรัฐนั้น มีเรื่องเดียวที่ตกลงกันได้ คือ เรื่องของจีน ฉะนั้น ไม่ว่า พรรคใดจะมา แต่การค้าจะเดินแยกทาง ลักษณะนี้ จะเกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงกับทุกประเทศทั่วโลก เพราะจะมีบริษัทที่ลงทุนในจีนกับสหรัฐจีนเกิดการย้ายฐาน แต่คำถาม คือ ไทยเองพร้อมที่จะรองรับการย้ายฐานการลงทุนดังกล่าวหรือไม่

“ตรงนี้ น่าสนใจ เขาจะมองไทยหรือไม่ ปัญหา คือ ผู้ลงทุนเหล่านี้ จะไม่ลงทุนแค่สินค้าประเภทรองเท้า เสื้อผ้า แต่เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสูง ก็ต้องถามว่า ไทยพร้อมพัฒนาทักษะแรงงานขนาดไหน และสองแนวโน้มการค้าที่จะเกี่ยวกับไทยนั้น จะเกี่ยวกับ Regional Trade  หรือ การค้าระดับภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ การค้า Global south หรือกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ จะเติบโตเรื่อยๆ“

ทั้งนี้ Regional Trade จะมีมากขึ้น ถ้ามองไป 50 ปีข้างหน้าเพราะว่า ความร่ำรวยในระแวกนี้จะมาก อย่าลืมจีน ประชากรอาจลดลง แต่อินเดีย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนในสองประเทศนี้ จะมั่งคั่ง ความต้องการกินการใช้สินค้าระดับบนของสองประเทศจะมากขึ้น แต่เขาข้ามหิมาลัยมาไม่ได้ ฉะนั้น วิธีการถ้าเราเอาแลนบริดจ์ ท่าเรือระนองรับการส่งขนส่งไปจีน ไปตะวันตก ผมมองว่าเข้าท่า

นายธีรชัย กล่าวว่า แม้ว่าหลายคนจะมองสภาพเศรษฐกิจโลกขณะนี้ อาจจะรู้สึกสบายใจ แต่ว่า เมื่อเจาะลงไปใต้น้ำจะพบว่า แต่ละประเทศมีปัญหาที่สะสมอยู่ กรณีจีนก็มีปัญหาเรื่องฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ กระทบการเงินในประเทศ ยุโรปก็มีปัญหาค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมัน ที่น่าสนใจคือสหรัฐ หลายคนมองจีดีพีเข้มแข็ง แต่รัฐบาลมีการใช้เงินเยอะมาก 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลึกไป รู้สึกว่า มีสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา สภาพคล่องมีการขับเคลื่อน โดยกระทรวงคลังออกพันธบัตรกู้ระยะสั้นแทนระยะยาว ทำให้ตลาดหันไปลงทุนพันธบัตรระยะสั้นจากที่ลงทุนในเฟดลดลงและมีแนวโน้มต่ำสุดในเดือนมี.ค.จากนั้น จะเกิดปัญหาใหญ่ เพราะรัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องพันธบัตรยาว จะเกิดการกระเพื่อมใต้น้ำ โผล่ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน ยังกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้ สหรัฐกับอิหร่าน จะเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งมากขึ้น และจะเกิดปัญหาต่อราคาน้ำมัน รวมถึง กรณีที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ลดต่ำลง ซึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานลดลง แต่หากราคาพลังงานปรับเพิ่ม ความฝันที่ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะกลับเข้าที่นั้น จะเป็นไปได้ยาก 

ทั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทในสหรัฐและยุโรปจำนวนไม่น้อยที่เวลานี้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จะมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก