นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ขณะนี้ในส่วนของคณะทำงาน มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่ยังไม่ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน
โดยเราได้เตรียมการรับมือและตอบคำถาม สำหรับหนังสือของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน ซึ่งหากได้รับหนังสือแล้ว จะเป็นจุบจบของการรอฟังความเห็น และคณะกรรมการการจะทำการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการอย่างไร
ส่วนหากเริ่มโครงการดิจิทัล วอตเล็ต ไม่ทันเดือนพ.ค.67 นี้ ก็ยังไม่มีการกำหนดวัน หรือเวลาชัดเจนว่าโครงการจะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อไหร่ ซึ่งหวังว่าคงเลื่อนออกไปไม่นาน อย่างไรก็ดี การเลื่อนออกไป ก็ต้องมีผลต่อการกระเพื่อมของเศรษฐกิจในปีนี้ลดลงไป แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้จบแค่ในปีเท่านั้น ถ้าโครงการออกช้าก็จะเห็นผลการกระตุ้นในปีถัดไปแทน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือจาก คณะกรรมการศึกษาเงินดิจิทัล ของป.ป.ช. โดยตอนนี้เห็นแค่ออกมาตามข่าวสาร แต่ก็ได้เห็นแนวทางแล้ว ว่าแต่ละประเด็นคืออะไร เราก็เตรียมตัว อะไรที่ตอบได้ก็จะตอบ ส่วนที่อาจจะตอบไม่ได้ ก็เตรียมการให้ข้อเสนอนั้น มีคำตอบให้”
ส่วนกรณีที่โครงการดิจิทัล วอลเล็ตยังไม่ออกมา ระหว่างนั้นจะมีมาตรการมารองรับหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เฉพาะโครงการดิจิทัล วอลเล็ตเป็นเพียงโครงการเดียว ล่าสุด รัฐบาลก็มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาระหว่างรอโครงการเงินดิจิทัล โดยยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่รัฐบาลกำลังดูอยู่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า กรณีผลสำรวจของประชาชน เรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล)นั้น รัฐบาลก็รับฟังความเห็น แต่ยังไม่ถึงถึงขั้นนำมาใช้ตัดสินโครงการ เพราะการสำรวจก็คือความเห็นของประชาชนกลุ่มหนึ่ง
โดยประเด็นเรื่องวิกฤต ไม่วิกฤติ แน่นอนว่าคนมีรายได้อยู่ระดับบน ถ้าไม่เดือนร้อนก็อาจจะไม่รู้สึก แต่คนที่รายได้อยู่ในระดับฐานราก ก็จะบอกว่าสถานการณ์ตอนนี้อันตรายแล้ว
“สำหรับผม ตอนนี้เศรษฐกิจอยู่ในความถดถอยระดับหนึ่ง ที่เกิดจากภาวะของภาระหนี้ครัวเรือนสูง ทั้งในภาคประชาชน และภาคเอกชนก็สูง ถามว่าตอนนี้ใครคิดเรื่องลงทุนบ้าง ไม่มีใครมีความพร้อมที่จะคิดเรื่องการลงทุน ถ้าเป็นประชาชนก็คิดถึงแต่เรื่องการประทังชีวิต และการหาเงินมาจ่ายหนี้สิน ส่วนภาคเอกชนก็คิด แต่เรื่องการบริหารจัดการลดต้นทุน และลดหนี้ของตัวเอง ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก เราถึงเห็นการเติบโตเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาโดยตลอด”
อย่างไรดี เรื่องของคำว่าเศรษฐกิจวิกฤต หรือเปราะบางนั้น ไม่มีการนิยามความหมายที่เป็นกลาง ไม่มีใครเป็นคนกำหนด โดยการกำหนดคำว่า แต่ละคน แต่ละหน่วยงานก็มีคำตอบแตกต่างกัน แต่ว่ารัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการบริหารราชการ ถ้ารับบาลมองว่าวิกฤต และผลักดันในเข้าสู่กรอบกฎหมาย ดังนั้น รัฐบาก็ต้องเดินหน้าแก้ความเดือนร้อนให้ประชาชน