นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แม้จะเป็นวิกฤติแต่ก็เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยที่จะนำวิกฤตินี้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่
ทั้งนี้ ช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 20-25% เกิดการแบ่งค่ายของซัพพลายเชนและเทคโนโลยี โดยสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1-2 ของไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้าสหรัฐปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกวัตถุดิบส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก
ทั้งนี้ ในช่วงสงครามการค้าพบว่าสมาชิก ส.อ.ท.ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่หรือวัตถุดิบ แต่ในวิกฤติดังกล่าวบางกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากจีนและมีคำสั่งซื้อจนผลิตแทบไม่ทัน
อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนการผลิตของเราจากเดิมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิต โดย 30 % ไทยนำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ ส.อ.ท. มาศึกษาว่าจะทำอย่างไรในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้มากขึ้น เพราะผลกระทบจากปัญหาจีโอโพลิติกส์
โดย ส.อ.ท. ตั้งเป้าไว้ว่า 3-5 ปี จะมีการผลิตทดแทนการนำเข้าให้ได้ 10% และอีก 20% ภายใน 10 ปี โดย ส.อ.ท. ต้องการให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรมด้านซัพพลายเชน
อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลการเลือกตั้งสหรัฐฯด้วยว่าจะเป็นอย่างไร หรือนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่วิกฤตินี้เป็นโอกาสของไทยในการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยแต่ยังมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย