วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและรอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ รววถึงรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการ รัฐบาลมั่นใจว่าจะออกมาได้ แม้จะมีข้อท้วงติง แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะเบาบางลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการและความจำเป็นของเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นพ.พรหมินทร์อธิบายถึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็น ว่า เนื่องจากสถานะเศรษฐกิจวันนี้ เรียกว่ากบต้ม กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว ดังนั้น รัฐบาลมองเห็นถึงสถานะเศรษฐกิจด้วยตัวชีวัด ดังต่อไปนี้
ตัวชี้วัดแรก ช่วงปี 1994-1996 อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 7.3 % ปี 1999-ปี 2007 โตเฉลี่ยลดลงเหลือ 5.2 % ขณะที่ช่วงก่อนโควิด-19 ลดลงเหลือ 3.6 % จะเห็นได้ว่าเป็น Down trend มาโดยตลอด แปลว่าเศรษฐกิจโตช้า
ตัวชี้วัดที่สอง อัตราส่วนการเติบโตของการลงทุนเทียบกับการเติบโตของจีดีพี สัดส่วนการลงทุนของประเทศไทยต่อจีดีพีเทียบกับประเทศอื่นไทยแย่ลง เฉลี่ยปี 2014 – 2019 คิดเป็น 23.6 % หรือ การลงทุนน้อยกว่าจีดีพี แปลว่า ถอยลง วันนี้การส่งออกยังติดลบ การลงทุนยิ่งถอยลงไปมากขึ้น
ตัวชี้วัดที่สาม หลังจากโควิด-19 ปี 2019 การเจริญเติบของเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าที่สุด จากตัวเลขติดลบ 6 วันนี้ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตัวเลขระบุว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี 1.8 %
ตัวชี้วัดที่สี่ รายได้เฉลี่ยก่อนหักภาษีของประชากร ปี 2019 กลุ่มคนส่วนส่วนอยู่ใต้เส้นรายได้ 100 มีเพียงกลุ่มคนที่มีรายได้สูง (Top) เพียง 10 % ที่พ้นจากเส้น
“เพราะฉะนั้นจึงได้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถ้าอยู่บนหอคอยสูง ๆ แล้ว คุณก็จะไม่เห็นความทุกข์ของประชาชน”นพ.พรหมินทร์กล่าว
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า สำนักที่มีการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ 3 สำนัก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สศค. ต้นปีเศรษฐกิจโต และหลังจากนั้นปรับเป้าลงมาเรื่อย ๆ แต่ความเป็นจริงโตต่ำกว่า ดังนั้น ถ้าคาดการณ์ว่าดีเกินกว่าความเป็นจริงก็จะบอกว่าไม่วิกฤต
“กำลังบอกว่า ที่คาดการณ์ไว้สูงกว่าความเป็นจริงตลอด คาดการณ์ผิดตลอด คาดการณ์ดีกว่าความเป็นจริง”นพ.พรหมินทร์กล่าว
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า การคาดการณ์ 8 ครั้ง ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการปรับเป้ามาโดยตลอด ความเป็นจริงไม่ตรงกับเป้าหมาย ถ้าคาดการณ์ผิดก็วางแผนผิด แนวโน้มของเศรษฐกิจ ไม่ตรงไปตามที่แต่ละสำนักคาดการณ์
ตัวชี้วัดที่ห้า การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขึ้นสูงขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตกลงเรื่อย ๆ
นพ.พรหมมินทร์กล่าวว่า เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ยิ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้น ข้อจำกัดต่าง ๆ ต้องทำให้รอบคอบ รับฟังความเห็นแล้วแก้ และทำให้ผ่านให้ได้
"ถ้าเราดูตัวเลขขณะนี้การปล่อยกู้จากธนาคาร ยอดปล่อยกู้เคยขึ้นสูงแล้วตกต่ำลงเรื่อย ๆ ปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะกลัวหนี้เสีย (NPLs) เรื่องตราสารหนี้ (Bond) เช่นเดียวกัน ตกต่ำลงเรื่อย ๆ เพราะไม่กล้าปล่อย
นักวิชาการเรียกปัญหานี้ว่า liquidity crisis เม็ดเงินไม่พอ โดยเฉพาะ SMEs จะมีปัญหามาก เพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อย บอนด์ไม่กล้าปล่อย เป็นปัญหา จึงจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ"นพ.พรหมินทร์กล่าว
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ขณะนี้การร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างเดินตามขั้นตอน ความเห็นมาให้พร้อม ออกข้อเตือนมารัฐบาลก็จะแก้ตามนั้น โดยมี 4 เรื่องสำคัญที่ต้องอธิบาย คือ จำเป็น ต่อเนื่อง วิกฤต ตั้งงบไม่ทัน รัฐบาลตอบได้ทุกเรื่อง
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า 1.มีความจำเป็นเร่งด่วน 2.มีความจำเป็นต่อเนื่อง ต่อเนื่องเพราะไม่ใช่เพิ่งเกิด กำลังกบต้มวันนี้กำลังถึงท้องช้าง อัตราเงินเฟ้อติดต่อกัน 4 เดือน หมายความว่า ความต้องการน้อยกว่าสินค้า เป็นสัญญาณที่ไม่ดี อัตราการเจริญเติบโตไม่เป็นไปอย่างที่คิด วันนี้การส่งออกติดลบ 1-2 เดือน down trend มาแบบนี้ เราคงไม่รอให้ถึงก้น
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า 3.ต้องเป็นวิกฤต คำว่าวิกฤต หรือ ไม่วิกฤตเป็นคำที่รัฐบาลเป็นคนตัดสินใจ ไม่ใช่ใครอื่นมาตัดสินใจ ไปดูในรัฐธรรมนูญได้ วิกฤต คือ คนเดือดร้อน สภาเป็นคนตัดสิน
“การใช้ พ.ร.บ. คือ การมอบอำนาจให้กับประชาชน เอาอำนาจของประชาชนที่เป็นตัวแทนประชาชนตัดสิน ซึ่งเราเป็นรัฐบาล เป็นคนเสนอว่า เราจะเสนอกฎหมายนี้ การเสนอกฎหมายนี้ต้องผ่านสภา ซึ่งคนที่จะตัดสินว่า สมควรหรือไม่อยู่ที่สภา ถ้าสภาไม่เห็นชอบก็ไม่เป็นไร จบ ไม่ใช่ทางลง คุณนึกหรือว่าสภาที่เราเป็นรัฐบาลจะไม่เห็นชอบ”นพ.พรหมินทร์กล่าว
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า 4.ตั้งงบประมาณปีเดียวไม่ทัน รัฐบาลต้องรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลัง คือ ทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 70 % ขณะนี้อยู่ที่ 62 % รัฐบาลใช้เพดานเก่า สมมุติเป็นหนี้ คือ เพิ่มอีก 2-3 % ไม่เกิน 4 % เมื่อฐานของจีดีพีโตหรือคืนหนี้ เพดานที่เกินมาก็จะลดลงเรื่อย ๆ ที่สำคัญยังมีที่ที่เรากำลังจะหา asset ของรัฐมาอีก
“เราตั้งงบประมาณใช้คืนหนี้ 3 ปีติดต่อกัน สมมุติ กู้ 5 แสนล้านบาท 3 ปีคิดเป็นปีละประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เทียบกับเงินงบประมาณทั้งก้อน คือ 3.4 ล้านล้าน ประมาณปีละ 2.5 % เท่ากับรัฐบาลใช้งบประมาณ เพียงแต่เป็นงบประมาณหลายปี แต่วิธีการงบประมาณรัฐบาลบริหารงบประมาณแผ่นดิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ"นพ.พรหมินทร์กล่าว
นพ.พรหมินทร์ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ได้ทำตามที่ประกาศไว้ พยายามทำให้เร็วที่สุด พยามทำให้ได้ตามเป้าหมาย หน้าที่ของรัฐบาลจะทำให้ได้ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“winner attitude คือ ทุกปัญหามีทางออก loser คือ ทุกทางออกมีปัญหา"นพ.พรหมินทร์กล่าว