วันนี้ (31 มกราคม 2567) แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงกรณีที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่ต้องมีการออกพ.ร.บ.ให้อำนาจให้กระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจเต็มในการพิจารณาว่าเศรษฐกิจของประเทศวิกฤต
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในเรื่องนี้อำนาจตามกฎหมายของ ครม.ไม่สามารถที่จะเรียกประชุมและมีมติว่า เศรษฐกิจวิกฤตได้ โดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ เนื่องจากเมื่อมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะต้องมีหนังสือไปขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ ครม.
แหล่งข่าวกล่าวว่า จะมีการสอบถามว่า เกิดภาวะวิกฤตกับเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.25561 มาตรา 53 ที่ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ โดยต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน
“แม้ว่าขั้นตอนของการออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯเพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งบอร์ดชุดดังกล่าวมีองค์ประกอบเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจที่สามารถให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่วิกฤต"แหล่งข่าวกล่าวและว่า
"สมมุติว่าบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่มีมิติว่าให้สามารถออกพ.ร.บ.กู้เงินฯได้ แต่เมื่อจะเข้าสู่การประชุม ครม. สลค.ก็จะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของ ครม.ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจก็สามารถให้ความเห็นในข้อกฎหมายต่างๆรวมทั้งให้มุมมองต่อสภาวะเศรษฐกิจได้ว่าเกิดภาวะวิกฤตหรือไม่เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมาย ซึ่ง ครม.ก็จะพิจารณาความเห็นของหน่วยงานเหล่านี้ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ”แหล่งข่าวกล่าว
เมื่อถามว่าในการออก พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาของโควิด-19 รัฐบาลใช้แนวทางอย่างไรในการชี้สถานการณ์ว่าวิกฤต แหล่งข่าวกล่าวว่าในการพิจารณาออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิดทั้งสองฉบับวงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ก็ใช้ข้อมูลรายงานเศรษฐกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สศช. และธปท.มาประกอบการพิจารณา โดยมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจชุดเล็ก เพื่อรับทราบข้อมูลดังกล่าวก่อน ที่จะมีการประชุม ครม.เพื่อออก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 หลังจากรับทราบข้อมูลวิกฤตแล้ว ไม่ใช่เป็นการประชุม ครม.เพื่อตัดสินใจหรือมีมติ ครม.ว่าเกิดภาวะวิกฤตหรือไม่
เมื่อถามว่าในการประชุม ครม.หากมีข้อถกเถียงหรือเห็นไม่ตรงกันของ ครม.เกี่ยวกับการออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ นั้นอาจเกิดเหตุการณ์การเดินออกจากที่ประชุม (Walk out) ของ ครม.บางคนหรือบางพรรคได้หรือไม่ แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการประชุม ครม.ที่ผ่านมาหลายรัฐบาล ยังไม่เคยมีปรากฎการณ์ Walk out ระหว่างการประชุม มีแต่ที่ทราบว่ามีวาระเรื่องนี้เข้ามาในการประชุมจึงไม่เข้าประชุม ครม.ตั้งแต่แรก หรือมีการพูดจากันให้มีการถอนวาระออกไปก่อนจากที่ประชุม เช่น การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
อย่างไรก็ตามในการประชุม ครม.แต่ละครั้งนั้น แม้ว่าไม่ได้เดินทางมาประชุมแต่หาก ครม.มีมติเรื่องใดไปก็ถือว่ามีผลผูกพันในทางกฎหมายกับ ครม.ทั้งคณะ ยกเว้นจะมีการขอให้บันทึกการประชุม ครม.ไว้เกี่ยวกับความเห็นที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน กรณีที่มีปัญหาทางกฎหมายนั้นก็ต้องมาย้อนดูบันทึกการประชุม ครม.ที่มีอยู่เกี่ยวกับวาระนั้นๆที่เข้า ครม.
“มติ ครม.ถือว่าเป็นหลักการที่ผูกพันรัฐมนตรีทุกคน ซึ่งจริงๆคือทุกคนที่เป็น ครม.ไม่ว่าจะเข้าหรือไม่เข้าประชุม แต่ในกรณีที่มีปัญหาในประเด็นกฎหมายก็อาจจะบอกได้ว่าไม่ได้เข้า แต่ที่จริงแล้วเข้าไม่เข้าก็ผูกพันว่าเป็นการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของ ครม.อยู่ดี ยกเว้นว่ามีการยกมือไม่เห็นด้วยแล้วให้ลงบันทึกเป็นข้อสังเกตไว้ หรือมีเหตุผลในการขาดการประชุมแล้วมีเอกสารแจ้งว่าป่วย หรือไปราชการ ต้องมีเหตุผลรองรับด้วย แต่หากขาดประชุมไปเฉยๆก็จะถือว่าเป็นมติที่ ครม.ผู้นั้นมีส่วนร่วมด้วยอยู่ดี”แหล่งข่าวทิ้งท้าย