วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงขั้นตอนการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท) ได้ส่งหนังสือประชุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
นายปกรณ์กล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องยกร่างพ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท) เสร็จ ต้องนำเข้าสู่การประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่ออนุมัติ หลังจากนั้นให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก่อนที่จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างพ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตราไหนเขียนยากที่สุด นายปกรณ์กล่าวว่า เวลาเขียน พ.ร.บ.ต้องยึดตามหลักตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53
เมื่อถามมีการมองว่าจะไปซ้ำรอยร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้าน (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน) ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่แน่ใจ
นายปกรณ์กล่าวว่า โดยกระบวนการไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ถูกตรวจสอบได้ทั้งหมด เป็นเหมือนกันทุกรัฐบาล และร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เป็นเรื่องแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ตกไป เพราะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า ถ้าร่างพ.ร.บ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาทผ่านถึงมือกฤษฎีกาจะทำอะไรได้บ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า กฤษฎีกามีข้อสังเกตได้ แต่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเอาตามก็ได้
“กฤษฎีกาเหมือนแม่ครัว เราจะปรุงอาหารให้ตามใจคนกิน ก็คือ รัฐบาล คนกินบอกว่า อยากกินแกงเนื้อ แต่ไม่ใส่พริก สิ่งที่ผมทำ คือ ผมต้องทำแกงเนื้อไม่ใส่พริก ผมก็จะบอกกลับมา ว่า ถ้าไม่ใส่พริกมันจะไม่เผ็ดนะ แกงมันต้องเผ็ดนิดหนึ่งถึงจะอร่อย ก็แล้วแต่รัฐบาลจะว่าอย่างไร”นายปกรณ์กล่าว