เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายเรือธง ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” กุมบังเหียนนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังงวดเข้ามาทุกขณะ
15 กุมภาพันธ์ 2567 จะเป็นวันชี้เป็น-ชี้ตายร่างพระร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ซึ่ง “บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” จะถูกหยิบขึ้นมาเห็นชอบหรือไม่ในวันนั้น
โดยร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พ.ศ. .... วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มีจำนวน 7-8 มาตรา เป็น “แพลตเทิร์น” เดียวกันกับ “พ.ร.ก.กู้เงินโควิด”
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ... พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินไม่เกินห้าแสนล้านบาท
มาตรา 4 ให้การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชบัญญัตินี้จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ไม่ได้
มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชำระหนี้ประกอบด้วย
มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อกำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
หากย้อนไปช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 4 รัฐบาลในอดีต ออก “กฎหมายพิเศษ” กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จำนวน 9 ฉบับ รวมวงเงินกว่า 5,600,000 ล้านล้านบาท
ยุควิกฤตโควิด-19 ปี 2562-2564 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวน 3 ฉบับ
เหตุผล คือ โดยที่โรคโควิด-19 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลก ประกอบกับโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดของโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
นอกจากนั้น การแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง ถือเป็น “ภัยพิบัติสาธารณะ” ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนและต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่งยวด
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในการดำเนินมาตรการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่เพียงพอในอันที่จะยุติการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน แม้จะได้มีการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาเพื่อใช้จ่ายในการนี้แล้วก็ตาม”
โดยในเบื้องต้นรัฐบาลประมาณการว่ามีความ “จำเป็นรีบด่วน” ที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมประมาณหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่ง “ไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีการงบประมาณตามปกติ”
จึงเป็น “กรณีฉุกเฉิน” ที่มี “ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้
เหตุผล คือ โดยที่โรคโควิด-19 ยังระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วงและกว้างขวาง เป็นวิกฤตสำคัญที่ “จำเป็น” ต้องดำเนินการแก้ไขโดย “เร่งด่วน” และ “ต่อเนื่อง” กับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่
จึงเป็น “กรณีฉุกเฉิน” ที่มี “ความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
เหตุผล คือ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก
แม้ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว และต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้
จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับวัฏจักรการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ
โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไปและมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับไปใช้ประกอบธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่องหรือผิดนัดชำระหนี้อันจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของสถาบันการเงิน และต่อเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง
การดำเนินมาตรการดังกล่าวจึงต้องกระทำโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย จึงเข้าลักษณะเป็นกรณี “ฉุกเฉิน” ที่มี “ความจำเป็นรีบด่วน” อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้
ยุควิกฤตอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวน 2 ฉบับ แต่ไม่ได้ใช้ เพราะยุบสภาก่อน ส่วนอีกฉบับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ
เหตุผล คือ เนื่องจากในปี 2554 ได้เกิดวิกฤตการณ์อุทกภัยอย่างร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง
รัฐบาลมี “ความจำเป็นอย่างเร่งด่วน” ที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ โดยการจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น
นอกจากนี้ ผลจากการเกิดความเสียหายนั้นยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเริ่มถดถอยและอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะ
จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูประเทศ ทั้งการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย การป้องกันภัยพิบัติที่ใกล้จะถึงและการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ลงทุน ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก
และต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายแนวทาง และโดยที่การวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินการดังกล่าวจำนวนมาก
“แต่โดยที่การกู้เงินของรัฐบาลตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดบางประการ สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ เพื่อให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวได้ทันที”
ในการป้องกันภัยพิบัติล่วงหน้าและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในขณะนี้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
ยุควิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 1 ฉบับ
เหตุผล คือ โดยที่ได้เกิดวิกฤติการณ์ของระบบสถาบันการเงินในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างรุนแรง
แม้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประกาสเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐต่ำกว่าที่ประมาณการไว้อย่างมาก ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลได้
“ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง”
แต่เนื่องจากการกู้เงินของรัฐบาลตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดบางประการ ฉะนั้นเพื่อให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินในนามของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้จ่ายหรือลงทุน หรือเพื่อดำเนินมาตรการที่สำคัญและจำเป็นต่อการฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
ยุควิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540-2541 รัฐบาลนายนายชวน หลักภัย จำนวน 3 ฉบับ
เหตุผล คือ โดยที่ระบบสถาบันการเงินของประเทศในปัจจุบันประสบปัญหาการเพิ่มทุนและมีปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนมาก ทำให้ระบบสถาบันการเงินขาดความมั่นคงและไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้เต็มที่
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มทุนในสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นการเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวและโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้
เหตุผล คือ โดยที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลให้รัฐต้องดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ดังกล่าว เช่น การรับพันธกรณีภายใต้แผนการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
การระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินบางแห่งและการตรากฎหมายว่า ด้วยการปฏิรูประบบสถาบันการเงินกับกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริษัทสินทรัพย์สถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงินเหล่านั้น
“แต่การดำเนินการที่ผ่านมายังไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและการเสริมสภาพคล่องในภาคเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวโดยรีบด่วน”
โดยการกำหนดมาตรการเพื่อให้มีการนำเงินจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งปรับโครงสร้างของระบบการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้มีการหมุนเวียนทางการเงินขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทและการลดระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
รวมทั้งมรผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมและการปฏิรูประบบการเงินและสถาบันการเงินในประเทศให้มีความแข็งแกร่งและมีมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
ฉะนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว จึงจำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง ซึ่งจะเป็นการระดมเงินทุนให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินในระยะนี้โดยเร็ว
อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.ก.นี้
เหตุผล คือ โดยที่ประเทศไทยได้ประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอันมีผลกระทบต่อความมั่นใจในสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ ทำให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก
แต่เนื่องจากกองทุนมีแหล่งเงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยสูงและมีจำนวนจำกัด จึงก่อให้เกิดปัญหาในการระดมเงินของกองทุนรวมทั้งมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโดยทั่วไป
ฉะนั้น เพื่อให้มีการจัดการเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนอย่างเป็นระบบ จึงสมควรมรการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนให้เหมาะสม
โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนและกำหนดวิธีการจัดการเกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้ให้ชัดเจน โปร่งใสและเป็นประโยชน์โดยรวมมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดภาระการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐและแก้ไขการบิดเบือนในตลาดการเงินในประเทศ
ตลอดจนทำให้อัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปลดลง อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนจากต่างประเทศได้ทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้
ไม่แน่ว่า “รัฐบาลเศรษฐา” อาจจะใช้ “วิกฤตหนี้สิน” ที่จัด “บิ๊กอีเว้นท์” แถลงความคืบหน้า 2 เดือน แก้หนี้ทั้งระบบ "จบในรัฐบาลนี้" เป็น “เหตุผล” ของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทก็เป็นได้