"ส.อ.ท."ลั่นขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโด ดูดนักลงทุนเข้าไทย

14 ก.พ. 2567 | 06:51 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 06:51 น.

"ส.อ.ท."ลั่นขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโด ดูดนักลงทุนเข้าไทย ยันเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน ระบุการปรับตัวของไทยมีความจำเป็นเพื่อให้สอดรับกับบริบทโลก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM” ช่วงเสวนาเรื่อง "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" ว่า ราคาค่าไฟของไทยงวดปัจจุบัน(ม.ค.-เม.ย. 67) ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการลงทุนไทยอย่างเวียดนามซึ่งราคาเพียง 2.67 บาทต่อหน่วย 

แม้จะเคยเกิดไฟดับแต่สาเหตุมาจากรับการลงทุนต่างชาติจำนวนมาก แต่ล่าสุดเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว ขณะที่อินโดนีเซียค่าไฟเพียง 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย 

โดยราคาที่สูงของไทยจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายอุตสาหกรรมสำคัญมีต้นทุนค่าไฟ ต้นทุนพลังงานเป็นต้นทุนหลัก
 

"นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เคยกล่าวกับตนว่าให้ใจเย็น กระทรวงกำลังเร่งพิจารณา โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณเดือนเมษายนนี้ หากค่าไฟถูกลงในระดับเหมาะสม เอกชนจะประกาศหยุดงาน 1 วัน และขอเลี้ยงขอบคุณปลัดพลังงานด้วย"

อย่างไรก็ดี ขอยืนยันกับรัฐบาลว่าเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาพลังงานเหมาะสมแข่งขันได้ ยังต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไทย 5 ด้านหลัก ได้แก่ 

  • สนับสนุนการเปลี่ยนใช้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพ 
  • สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน 
  • พัฒนาบุคลากร 
  • ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 
  • จัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม 

ขณะเดียวกันในการสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ซึ่งปัจจุบันอีวีจีนเข้ามาจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้การลงทุนสะอาดทั้งระบบ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสุ่บีซีจี และสามารถมุ่งเน็ตซีโร่ได้
 

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การปรับตัวของไทยมีความจำเป็นเพื่อให้สอดรับกับบริบทโลกที่ปัจจุบันกำลังเผชิญจีโอโพลิติก สงครามการค้า การดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยี และโลกเดือด โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป้าหมายคลีน การมุ่งสู่ความยั่งยืน และเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 แต่สังเกตว่าไทยช้าที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลก ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐทบทวนเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายดังกล่าวส่งผลต่อขีดแข่งขันของไทย

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้เดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ ซีแบม ในปีที่ผ่านมา โดยนำร่อง 5 สินค้า คือ เหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และปี 2569 จะเพิ่มอีก 5 สินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์กลั่นน้ำมัน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย โพลิเมอร์ 

นอกจากนี้สหรัฐฯ แคนาดา จีน และทั่วโลก จะมีมาตรฐานบังคับใช้ของตัวเอง ดังนั้นต้องรับมือ ผลิตสินคัาโดยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสอดรับกับยอดขอลงทุนไทยปี 2566 ที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท นักลงทุนที่ยื่นขอลงทุนรายสำคัญของโลกต่างต้องการไฟสีเขียวจากพลังงานสะอาด เพื่อใช้อ้างอิงในการขายสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งซีแบมเป็นหนึ่งในมาตรการที่เริ่มต้นแล้ว

"ปีนี้ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.4% ขณะที่องค์การการค้าโลก(WTO) คาดการค้าโลกเติบโต 0.8% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.4% ถือเป็นระดับที่ดี"