"BOI"ปลดล็อคต่อเวลา"ไฮสปีดเทรน"ครั้งสุดท้าย

15 ก.พ. 2567 | 05:54 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 05:54 น.

"BOI"ปลดล็อคต่อเวลา"ไฮสปีดเทรน"ครั้งสุดท้าย หลัง หลังบริษัทเสนอแผนดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น ยืนยันการลงทุนและพร้อมร่วมกับ EEC และ รฟท. หาทางออกเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป ให้ทั้งสามฝ่ายเร่งเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอได้พิจารณาทบทวนคำสั่งไม่อนุมัติขยายเวลาการส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม ครั้งที่ 3 สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ตามที่บริษัทได้มีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว 

โดยบีโอไอได้พิจารณารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน และได้เชิญบริษัทมาหารือและให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ในครั้งนี้บริษัทได้เสนอแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น 

อีกทั้งได้แสดงถึงความตั้งใจที่จะลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยเร็วที่สุด เพียงแต่ต้องการเวลาในการหาทางออกเรื่องเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนฯ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการก่อนที่จะยื่นขอออกบัตรส่งเสริม ประกอบกับหน่วยงานเจ้าของโครงการได้แจ้งว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมกับบริษัทด้วย
 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเหตุผลและข้อมูลของบริษัท รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บีโอไอจึงเห็นว่า การขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งบริษัท EEC และ รฟท. มีระยะเวลาพอสมควรในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน จึงได้พิจารณาให้ขยายเวลาออกไปอีก 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 มกราคม 2567 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเวลาในการส่งเอกสารจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2567  

"BOI"ปลดล็อคต่อเวลา"ไฮสปีดเทรน"ครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน กำหนดให้บีโอไอสามารถอนุมัติขยายเวลาในการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมได้เพียง 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จึงขอให้ทั้งสามฝ่ายเร่งหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนดได้

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้รับการอนุมัติจากบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 โดยที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นขอขยายเวลาตอบรับมติให้การส่งเสริม และขอขยายเวลาการส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริม 2 ครั้ง จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567 

 

ต่อมาบริษัทขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมอีกเป็นครั้งที่ 3 บีโอไอจึงทำหนังสือสอบถามความเห็นจากทั้ง EEC และ รฟท. ซึ่งให้ความเห็นว่า ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และความเชื่อมั่นของนักลงทุน อีกทั้งการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ไม่มีผลต่อการขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงควรเร่งรัดให้บริษัทส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมโดยเร็ว และไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก

บีโอไอจึงมีคำสั่งไม่อนุมัติให้ขยายเวลาตามความเห็นของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเร่งรัดให้รีบยื่นเอกสารภายในกำหนดเวลา แต่ต่อมาบริษัทไม่ได้ส่งเอกสารตามเวลาที่กำหนด และได้ยื่นขออุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า การเจรจาเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนฯ ระหว่าง EEC รฟท. และบริษัท เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดหาเงินทุนของโครงการ จำเป็นต้องขอเวลาเพิ่มเติมเพื่อหารือกับทั้งสองหน่วยงานให้แล้วเสร็จ จึงขอให้บีโอไอพิจารณาทบทวนคำสั่งดังกล่าว 

"จากการพูดคุยกับทุกฝ่ายแล้ว บีโอไอจึงมีคำสั่งให้ขยายเวลาการส่งเอกสารออกบัตรส่งเสริมอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายตามที่ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน ให้อำนาจไว้ เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน"