วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ภายหลังบรรยากาศการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ตึกภักดีบดินทร์ ว่า การประชุมเริ่มขึ้นตามเวลา 16.00 น. เมื่อการประชุมผ่านไปได้ประมาณ 30 นาที และมาถึงวาระลับ เรื่องผลการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินโครงการฯ ที่จะตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ได้เชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องประชุมเป็นเวลา 30 นาที
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการประชุมจบลงเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จับกลุ่มคุยกันนอกรอบประมาณ 10-20 นาที ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยพยายามหลบเลี่ยงหนีกองทัพผู้สื่อข่าวที่ดักรอสัมภาษณ์ที่หน้าประตูตึกภักดีบดินทร์ทั้งประตูหน้าและประตูหล้ง ก่อนจะให้รถยนต์ไปวนรอรับประตูข้าง และไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
แหล่งข่าวจากที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ตั้งนายลวรณ ปลัดกระทรวงการคลังให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาความเห็นของกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเสนอความเห็นให้บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้งภายใน 30 วัน ส่วนแหล่งเงินจะเอามาจากไหนและวิธีการจะเป็นอย่างไร ออกเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ยังไม่สะเด็ดน้ำ วันนี้จึงเป็นเพียงรับทราบ แต่ไม่ได้สรุป
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตได้มีการหารือกันอย่างขวางกว้าง เช่น ผู้ว่าธปท. เลขาธิการสศช. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอีเอส ที่รายงานถึงตัวเลขเศรษฐกิจในมุมมองของหน่วยงานตัวเอง ในส่วนของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ส่งตัวแทนมาชี้แจง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงการกู้เงินสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ปัญหาโควิด-19 จำนวนถึง 1.5 ล้านล้านบาท จ่ายเงินให้ประชาชนครั้งละ 5,000 บาท ถึง 3 ครั้ง รวมแล้วกว่า 15,000 บาท มากกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทด้วยซ้ำ ยังสามารถทำได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจระดับแมคโครจะดีขึ้น แต่ตัวเลขระดับไมรโคร หรือ ประชาชนระดับรากหญ้า ยังอยู่ในขั้นวิกฤต สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือน และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้เสีย หรือ NPLs) สูงขึ้น
“ถ้าจะอ้างว่ารัฐบาลประยุทธ์อยู่ในช่วงวิกฤตโควิด ก็เป็นวิกฤตต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว เพราะประชาชนระดับล่างยังต้องประสบกับปัญหาหนี้สินตั้งแต่ช่วงโควิด โดยเทียบตัวเลขเศรษฐกิจก่อนเกิดโควิด ระหว่างเกิดโควิด และหลังโควิดจะเห็นว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นทั้งระบบ”แหล่งข่าวระบุ