ตลาดหุ้นไทยวันนี้ยังผันผวน กรอบ 1,440-1,465 จุด คาดเฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ย

15 พ.ย. 2567 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2567 | 03:00 น.

Liberator คาด SET วันนี้ แกว่ง Sideways ในกรอบ 1,440-1,465 จุด ประธานเฟดมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแกร่ง อาจไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย กระตุ้นดอลลาร์แข็งมากขึ้น ดังนั้น SET ยังต้องระวังกระแสเงินทุนไหลออก กลยุทธ์มองใช้จังหวะย่อสะสมหุ้นที่แนวโน้มกำไรดี โดยวันนี้แนะนำ TASCO

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator) ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้ 15 พ.ย.67 คาด SET Index แกว่ง Sideways ในกรอบ 1440-1465 จุด โดยมีปัจจัยที่จะมีผลกระทบจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังต้องให้การจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

ปัจจัยต่างประเทศ การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ที่ผ่านมา พบว่า เงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) เดือน ต.ค. สูงขึ้นสู่ระดับ 2.4% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน จาก 1.9% ในเดือน ก.ย. และสูงกว่าคาดที่ 2.3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เช่นเดียวกับ Core PPI ที่ 3.1% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ขึ้นจาก 2.9% ในเดือน ก.ย. และสูงกว่าคาดที่ 3.0%

ผสานกับด้านตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ลงสู่ 2.17 แสนราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อน และต่ำกว่าคาดที่ 2.2 แสนราย ทั้งหมดสะท้อนภาพแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของนายเจอโรม โพลเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์วานนี้ที่ Dallas

โดยประเมินภาครวมเศรษฐกิจสหรัฐฯยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ดังนั้น FED อาจไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปนัก ซึ่งจากถ้อยแถลงดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดประเมินโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐฯเดือน ธ.ค. นี้ เหลือโอกาสเพียง 62% ลดจากวันก่อนหน้าที่ระดับ 82% ถือเป็นแรงส่งให้ Dollar Index แข็งค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 107 จุด ใกล้จุดสูงสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 107.3 จุด

ส่วนด้านตลาดหุ้นไทย ยังอยู่ในช่วงรอความชัดเจนหลายปัจจัยที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า ทั้งตัวเลขไตรมาส 3/67 GDP (18 พ.ย.), การหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ (19 พ.ย.) และศาลรัฐธรรมนูญจะ “รับ/ไม่รับ” คำร้องกรณีของคุณทักษิณ (22 พ.ย.) เป็นต้น

ปัจจัยที่ต้องจับตา

15 พ.ย.67

  • ยอดค้าปลีก สหรัฐฯ & จีน, 
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม สหรัฐฯ & จีน & ญี่ปุ่น
  • ดัชนี GDP ไตรมาส 3/67 ญี่ปุ่น

18 พ.ย.67

  • GDP ไตรมาส 3/67 ของไทย

19 พ.ย.67

  • ประชุมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หุ้นเด่นแนะนำ

  • TASCO ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 20.00 บาท คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/67 ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง (ไม่ชะลอลงเหมือนทุกปี) แรงหนุนจากการรับรู้ยอดขายยางมะตอยให้กับโครงการของภาครัฐฯ ในเดือน ต.ค. (เลื่อนจาก ก.ย.) ผสานกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่มากขึ้น โดยงบปี 68 มีงบสร้างและซ่อมแซมถนนราว 1.96 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วงถัดไปคาดจะมีการกลับรายการขาดทุนด้านเครดิตที่ตั้งไว้ในปีนี้ราว 340 ล้านบาท เป็นผลบวกต่อผลประกอบการ
  • WHA ยังมีมุมมองเชิงบวกจากการลงทุนในไทยปี 67 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับมูลค่า FDI ปี 66 ที่เติบโตกว่า 73% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาสูงสุด จากอุตสาหกรรม EV อีกทั้ง บริษัทตั้งเป้าปีนี้ธุรกิจโลจิสติกเพิ่มอีก 2 แสน ตร.ม. ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จะขยายเพิ่มอีก 2,070 ไร่ รวมทั้งจะมีการขยายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์รวม 2.13 แสน ตร.ม.
  • SGC ราคาเป้าหมาย 1.96 บาท คาดกำไรครึ่งหลังปี 67 จะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตของโครงการ SG Finance+ ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อมือถือที่สามารถล็อกได้หากผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำ ผสานกับการปลดล็อกการเพิ่มทุน จะหนุนให้ SGC ผ่อนคลายดอกเบี้ยจ่าย และมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในการปล่อยสินเชื่อ หนุนปี 68 กำไรจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 
  • BH คาดกำไรไตรมาส 3/67 ยังคงเติบโตโดดเด่น จากการเข้าสู่ช่วง High Season โดยคาดผู้ป่วยจากตะวันออกกลางยังปรับตัวขึ้นดี ขณะที่ประเด็นของคูเวต คาด BH มีโอกาสถูกเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลในไทยที่รัฐบาลคูเวตสนับสนุน ขณะที่ภาพระยะกลาง คาดได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ในภูเก็ตในช่วงปี 69
  • AOT คาดกำไรในช่วง ก.ค.-ก.ย. 67 จะขยายตัวได้ จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในฝั่งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินอาจลดลงเล็กน้อย จากการยกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้าตั้งแต่ ส.ค. 67 ขณะที่ในระยะสั้นคาดมีปัจจัยบวกจาก Golden week หนุนนักท่องเที่ยวจีนสูงขึ้น และการเดินหน้าต่อในช่วงปลายปีคาดนักท่องเที่ยวจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาล ส่วน Upside อาจมาจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ
  • CPALL คาดแนวโน้มไตรมาส 3/67 เติบโต จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลง จากไตรมาสก่อน ตามฤดูกาล โดย SSSG ของ CPALL ในช่วงไตรมาส 3/67 คาดยังคงเติบโต 2.5% แข็งแกร่งกว่ากลุ่มค้าปลีก โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคที่ขยายตัว ผสานกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งต่อไปยังแนวโน้มไตรมาส 4/67 ที่จะกลับมาเร่งขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน 
  • ITC คาดกำไรไตรมาส 3/67 ที่ 1,019 ล้านบาท โต 58% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน ยังขยายตัวจากราคาวัตถุดิบที่ลดลง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 3/67 จะอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม (แต่มีการล็อกค่าเงินบาทไว้แล้ว) ภาพรวมการดำเนินงานยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตลาดใหม่ๆ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้
  • MTC รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 ที่ 1,491 ล้านบาท เติบโต 16% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน ทำจุดสูงสุดใหม่ แรงหนุนจากพอร์ตสินเชื่อที่ขยายตัว 3%จากไตรมาสก่อน แลเพิ่มขึ้น 15% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ผสานกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้ Stage 2 ลดลงสู่ระดับ 8% ของสินเชื่อรวม จาก 9% ในไตรมาส 2/67 และอัตราส่วน NPL ลดลงสู่ระดับ 2.82% จาก 2.88%