ตัวเลข เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 แต่เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ 0.6% รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565
ปัจจัยหลักที่ทำให้ เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ชะลอตัว จากการหดตัวของภาคส่งออกสินค้า การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกภาคบริการยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างไม่คาดคิด ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เพิ่มความกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมทำตามข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
รายงานระบุว่า นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดำรงตำเเหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วย มีข้อขัดแย้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงิน โดยกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้เศรษฐกิจที่นายกฯ อธิบายว่าตกอยู่ในภาวะวิกฤติ และกำลังเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่สูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อย หากปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงมีอยู่
สิ่งที่ฉุดรั้งครั้งใหญ่ในไตรมาสที่ 4 คือการลงทุนที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของงบประมาณ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนซบเซาและการส่งออกเกือบจะทรงตัว
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ถือเป็นก้าวแรกสู่ "ภาวะถดถอยทางเทคนิค" (technical recession)
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ความเสี่ยงที่สำคัญและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อการท่องเที่ยวไทยจะสร้างแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง แม้ว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะเคลื่อนไหวก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะดำเนินการ เนื่องจากจะทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน
โมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะเพิ่มโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการทบทวนนโยบายครั้งต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 10 เมษายน 2567 หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยคงตัวที่ 2.5% ในเดือนนี้ หรือไม่ นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า ธปท.จะยังคงดอกเบี้ยเพื่อจัดการหนี้ครัวเรือนให้ดีขึ้น และรอความชัดเจนทั้งในด้านการเงินและจังหวะการขับเคลื่อนนโยบายของเฟด
ความคิดเห็นล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนนโยบายไปสู่การผ่อนคลายที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะที่ในวันเดียวกันที่มีการเเถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ นายกฯ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ทั้งปี 2566 และแนวโน้มปี 2567
ระบุว่า ได้พูดเรื่องดอกเบี้ยไปหลายครั้ง และน่าจะทราบจุดยืนอย่างชัดเจน โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยเฉลี่ยโตต่ำกว่า 2% ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เทียบกับลำดับจีดีพีโลกก็ต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าตั้งแต่รัฐบาลเข้ามายังไม่สามารถใช้งบประมาณได้ เร็วที่สุดน่าจะใช้ได้คือ 1 เมษายน 2567
แต่ทุกกระทรวงใช้นโยบายเป็นตัวขับเคลื่อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบ โดยหลายสำนักได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่
"ขอฝากไว้ว่านโยบายดอกเบี้ยไม่ต้องใช้งบประมาณ ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5 % หากลดลงเหลือ 2.25 % เพียงสลึงเดียวก็จะช่วยบรรเทาภาระของประชาชนทุกคนได้แต่เขาไม่ลดกัน"