นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติปรับปรุงแผนการบริหารหนี้ โดยเพิ่มวงเงินการก่อหนี้ใหม่ 5.6 แสนล้านบาท รวมเป็น 7.54 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนที่เพิ่มเข้ามานี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเพิ่มวงเงินเพื่อรองรับการกู้เงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่ใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ เพื่อรองรับการกู้ชดเชยขาดดุล ส่วนใหญ่เป็นการกู้สำหรับรัฐบาล 90% และส่วนที่เหลือเป็นรัฐวิสากิจ ซึ่งหากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีผลบังคับใช้ ก็จะมีการปรับปรุงแผนอีกทั้ง ซึ่งมีการทบทวนทุกไตรมาส
“วงเงินการก่อหนี้ใหม่นี้ คิดเป็นจำนวน 2 ใน 3 ของกรอบการกู้ชดเชยขาดดุลที่ 6.93 แสนล้านบาท ตามพ.ร.บ.งบปี 67 ดังนั้นยืนยันว่าวงเงินดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับวงเงินกู้ที่จะใช้ในโครงการเติมดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาล”
นอกจากนี้ สบน.ยังมีแผนบริหารหนี้รวมกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยจะมีการจากการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาออกไป เพราะส่วนใหญ่การกู้ยืมในช่วงโควิดเป็นหนี้ระยะสั้น และจะใช้เครื่องมือในการปรับโครงสร้างหนี้ที่หลากหลาย ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนต้นทุนทางการเงินของรัฐบาล เฉลี่ยอยู่ที่ 2.74% โดยปรับขึ้นมาก่อนในช่วงโควิด ซึ่งอยู่ที่ 2.4%
ขณะเดียวกัน สบน.ยังได้เตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 40,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนมี.ค.67 และในวันที่ 22 ก.พ.นี้ จะมีการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง โดยจูงใจประชาชนด้วยการให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แบ่งเป็นอายุ 5 ปี และ 10 ปี เป็นต้น
“สบน.มีแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ในปีงบ 67 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท โดยในรอบแรกนี้จะออก 40,000 ล้านบาท และหนึ่งในช่องทางการเปิดจำหน่าย คือ แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงได้ และสบน. ยังมีแผนจะออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนภายในปีนี้อีก 25,000-30,0000 ล้านบาทด้วย”