KEY
POINTS
เมื่อปีที่แล้วจีนเอาชนะเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5 % ได้อย่างหวุดหวิด แม้เผชิญความเสี่ยงจากการหดตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์และวิกฤติความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปี 2567
เมื่อมองไปข้างหน้า นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับอุปสรรคที่รุนแรงในปีมังกร ท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญวิกฤติ รายได้จากการส่งออกที่ลดลง และการปราบปรามอุตสาหกรรมเอกชน นักลงทุนต่างชาติกำลังถอนตัวออกจากหุ้นจีนในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์
ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง นักเศรษฐศาสตร์จึงเห็นพ้องต้องกันว่าจีนจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น ในขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเรียกร้องให้มีมาตรการที่รุนแรงเพื่อเขย่าเศรษฐกิจของจีน
จีนกำลังประสบกับภาวะเงินฝืดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2551 ราคาผู้บริโภคลดลงในเดือนมกราคมเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มว่าการลดลงจะขยายไปจนถึงปี 2024 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาที่ตกต่ำมีความเสี่ยงหากครัวเรือนและธุรกิจเลื่อนการซื้อออกไปด้วยความหวังว่าสินค้าจะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันภาวะเงินฝืดยังกดดันลูกหนี้เนื่องจากต้นทุนที่แท้จริงของเงินกู้ยืมเพิ่มขึ้น
อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) รวมถึงหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น สูงถึง 110% ในปี 2565 ซึ่งสร้างความปวดหัวให้กับผู้กำหนดนโยบายมากขึ้น
ภาวะเงินฝืดของจีนกับผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ
จีนมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานการผลิตโลก แต่หลังจากช่วงปี 2562 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีทิศทางชะลอลง และคาดว่าในปี 2567 จะชะลอลงจากปีก่อนจากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้กำลังการผลิตของประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าความต้องการบริโภคในประเทศ (Over capacity) และส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภายในประเทศปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่สภาวะเงินฝืด
เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ -0.8% นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566
ภาวะเงินฝืดและกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน คาดว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มระดับราคาสินค้าโลก เนื่องจากจีนยังเป็นประเทศส่งออกสำคัญ
ดัชนีราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า (Unit price index) ของจีนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2564 โดยเฉพาะราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงอย่างมากและนับเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 คาดว่าการลดลงของราคาสินค้าส่งออกของจีนจะส่งผ่านไปยังการลดลงของราคานำเข้าของประเทศคู่ค้า สะท้อนจากราคานำเข้าสินค้าและ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ในหลายประเทศที่ปรับตัวลดลง ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ
ในประเทศคู่ค้าสำคัญของจีนให้อยู่ในระดับต่ำหรือมีแนวโน้มปรับตัวลดลง (Deflationary Pressure) โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย รวมทั้ง "ประเทศไทย" ที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนในระดับสูง
เมื่อพิจารณาความพยายามดิ้นรนในการฟื้นเศรษฐกิจของจีน เห็นได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง มาตรการล่าสุดที่ประกาศออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จีนได้ลดอัตราการจำนองบ้านที่สำคัญครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเพื่อหนุนตลาดที่อยู่อาศัย
ธนาคารกลางจีนมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี ลง 0.25% ในวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา นับเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการยกระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อปี 2562 และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้มาก
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มาตรวัดที่วัดความเข้มแข็งของธนาคาร มีแนวโน้มลดลงในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อที่ลดลง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ออกมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหลายรอบเพื่อยกระดับความสามารถด้านการทำกำไร
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567
มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสำนักงานกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติจีน (NFRA) ออกมาตรการจัดหาเงินทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม โดยได้รวบรวมรายชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน (City-level Project Whitelists)
โครงการที่จะได้รับการสนับสนุนต้องเป็น โครงการที่มีคุณภาพสูงและรายชื่อโครงการที่ได้รับการอนุมัติทางการเงินจะถูกส่งไปยังธนาคารในภูมิภาคเพื่อเร่งรัดการออกสินเชื่อโครงการจากธนาคาร กระทั่งธนาคารพาณิชย์ได้ออกเงินกู้มูลค่า 1.786 หมื่นล้านหยวน ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ชุดแรก 83 โครงการ
วันที่ 24 มกราคม 2567
มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดย ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดสัดส่วนการกันเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio: RRR) ลงจากร้อยละ 7.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านหยวน
PBOC ยังลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดไมโครและธุรกิจขนาดเล็ก (Micro and Small Businesses) ลงจากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 1.75 มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
วันที่ 19 มกราคม 2567
มาตรการส่งเสริมการลงทุน โดย กระทรวงการคลัง (MOF) และหน่วยงานบริหารภาษีของจีน (STA) ขยายการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 25 % เหลือ 15 % ให้กับบริษัทในเขตความร่วมมือนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหอเต่า (HTCZ) นโยบายนี้เริ่มมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
จีนได้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลให้แก่บริษัทในเขตพัฒนาหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักอาทิ เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (หลิงกั่ง) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (หนานซา)
วันที่ 20พฤศจิกายน 2566
มาตรการทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (Loan Prime Rate: LPR) ระยะ 1 ปีไว้ที่ 3.45 % และระยะ 5 ปี ไว้ที่ 4.20 % ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลางอายุ 1 ปี สำหรับสถาบันการเงิน (Medium-Term Lending Facility: MLF) ไว้ที่ 2.50 % ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม 1.45 ล้านล้านหยวน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 7 ปี
วันที่ 7 ธันวาคม 2566
มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดย กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) กระทรวงการคลัง (MOF) และหน่วยงานบริหารภาษีของจีน (STA) ประกาศปรับปรุงเกณฑ์การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีการซื้อรถยนต์พลังงานทางเลือก (New Energy Vehicle: NEV) ให้ผู้ผลิตเร่งพัฒนาศักยภาพของรถยนต์ไฟฟ้า โดยรถยนต์ที่เข้าเกณฑ์การลดหย่อนภาษีจะต้องมีระยะการขับขี่อย่างน้อย 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ปรับเพิ่มจากเดิมที่ 100 กิโลเมตร โดยผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องแสดงหลักฐานยืนยันการให้บริการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แก่ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนได้
ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ในจีนจะได้รับสิทธิ์ในการยกเว้นภาษีการบริโภค (จากเดิม 10%) ไปจนถึงสิ้นปี 2568
วันที่ 11 ธันวาคม 2566
มาตรการด้านการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่อง โดย รัฐบาลท้องถิ่นของจีนใน 16 มณฑล ออกพันธบัตรวัตถุประสงค์พิเศษ (Special-purpose Bonds) เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อระบบการเงิน โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านหยวน หลังจากรัฐบาลกลางออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน เพื่อสนับสนุนและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงฟื้นฟูภัยพิบัติธรรมชาติ
วันที่ 14 ธันวาคม 2566
มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) ออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม อนุญาตให้ผู้บริโภคในเขตมณฑลปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ปรับลดอัตราส่วนการชำระเงินดาวน์ขั้นต่ำ (Down-payment ratio) สำหรับบ้านหลังแรกจาก 35% -40 % มาอยู่ที่ 30 % และสำหรับบ้านหลังที่สองจาก 60%-80% มาอยู่ที่ 40 % -50% โดยขึ้นอยู่กับขนาดและมูลค่าของที่อยู่อาศัย
วันที่ 21 ธันวาคม 2566
มาตรการส่งเสริมการลงทุนและยกระดับโครงสร้างการผลิต โดย กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MOST) เผยแพร่รายการสินค้าควบคุมสำหรับการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีและปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของรัฐ
การเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าควบคุมในปี 2567 ประกอบไปด้วย ยกเลิกรายการที่เคยต้องห้ามหรือควบคุม อาทิ เทคโนโลยีการผลิตสีเขียว เทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น การเพิ่มรายการสินค้าเทคโนโลยีที่ห้ามหรือควบคุมการส่งออก อาทิ เทคโนโลยีการโคลนเซลล์และการแก้ไขยีนสำหรับมนุษย์ เทคโนโลยีการใช้ประโยชน์ของพืชผลแบบผสมผสาน (Hybrid Crops) เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงรายการในปี 2567 เป็นการลดรายการลงจาก 164 รายการ เป็น 134 รายการ สำหรับเทคโนโลยีที่ไม่อยู่ในรายการจะถือเป็นการส่งออกได้โดยไม่มีการควบคุม
การปรับลดรายการมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกับต่างประเทศ ไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเทคโนโลยีภายในประเทศ
ที่มาข้อมูล
NESDC ECONOMIC REPORT