KEY
POINTS
กรมทางหลวง พยายามผลักดัน “มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย” ซึ่งมอเตอร์เวย์สายนี้จะทำให้การเดินทางระหว่างตัวเมืองหาดใหญ่กับด่านชายแดนไทยและมาเลเซียมีความสะดวกมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 40,787 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 31,287 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างเสนอผลการทบทวนรายละเอียดการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องแนวทางการเชื่อมต่อบริเวณด่าน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม-กันยายน 2567
ขณะเดียวกันในช่วงที่ทบทวนรายละเอียดโครงการฯนั้น ปัจจุบันกรมฯยังอยู่ระหว่างก่อสร้างทางขนาน ช่วงแยก ทล. หมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 ระยะทาง รวมประมาณ 5.5 กิโลเมตร (กม.) ขณะนี้มีความก้าวหน้างานก่อสร้าง 67.27% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2567
ทั้งนี้ตามแผนโครงการฯจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม,คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่วมลงทุนฯ ภายในเดือนตุลาคม 2567-มีนาคม 2568 คาดว่าจะเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนและลงนามสัญญาได้ภายในเดือนเมษายน 2568-มิถุนายน 2570
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจะเสนอครม.อนุมัติร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ภายในเดือนตุลาคม 2567-มีนาคม 2568 คาดว่าพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายน -สิงหาคม 2568 และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในเดือนกันยายน 2568-มิถุนายน 2571 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและงานระบบภายในเดือนกรกฎาคม 2571-ธันวาคม 2575
ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โดยดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP Net Cost) อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แล้วเสร็จ
ที่ผ่านมาตามผลการศึกษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) มีแผนดำเนินงานก่อสร้างใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อเมืองหาดใหญ่กับด่านชายแดนสะเดาแห่งที่ 2 และมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง และที่พักริมทาง 1 แห่ง (สถานที่บริการทางหลวง) โดยคาดว่ามีปริมาณคาดการณ์จราจรเฉลี่ยประมาณ 20,910 คันต่อวัน ในปีที่เปิดให้บริการ และจะเพิ่มเป็น 46,050 คันต่อวัน ในปีที่ 30 สร้างรายได้ 478 ล้านบาทต่อปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 2,145 ล้านบาทต่อปี ในปีที่ 30 ตามลำดับ
ขณะที่การเวนคืนที่ดินจะใช้เงินงบประมาณมาดำเนินการ โดยพื้นที่ที่ถูกเวนคืนอยู่บริเวณด่านชายแดนสะเดาแห่งที่2 ขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข4 ด้านทิศตะวันตก สิ้นสุดบริเวณทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเวนคืนตลอดแนวเส้นทางใหม่
สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ กม.1242+135 บริเวณ อ.บางกลํ่า จ.สงขลา แนวมุ่งลงทิศใต้ มีจุดสิ้นสุดที่ กม.62+596 ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมเข้า-ออกสนามบินหาดใหญ่ (Spur Line) ระยะทาง 7.86 กิโลเมตร โครงการฯ ประกอบด้วย
1.พื้นที่ศูนย์บริหารทางหลวงพิเศษขนาดประมาณ 14 ไร่ และพื้นที่บริการทางหลวงพิเศษ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของทางพิเศษ มีขนาดพื้นที่ด้านละประมาณ 17 ไร่ 2.ทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง 3.ทางลอด 4. ด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง 5.อาคารศูนย์ควบคุมด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง 6.ระบบกู้ภัยและจัดการจราจรฉุกเฉิน