ผ่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 “สงคราม” จุดปะทุความเสี่ยง

21 ก.พ. 2567 | 22:00 น.

ผ่าเศรษฐกิจโลกไตรมาส 4 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เเต่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยังเป็นตัวจุดปะทุความเสี่ยง

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคบริการและตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้ง สหรัฐฯ และจีน

การฟื้นตัวดีขึ้นของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับช่วงขาขึ้นของยอดขาย "เซมิคอนดักเตอร์" และคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกของหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) และกลุ่มประเทศอาเซียนเริ่มกลับมาขยายตัว

ในช่วงไตรมาสที่ 4 สถานการณ์ ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้ "เงินเฟ้อ" ในหลายประเทศทรงตัวในระดับสูงกว่าเป้า ธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไป

เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ขยายตัวร้อยละ 3.1 (Advance Estimate) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส จากการเร่งขึ้นของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากมูลค่าการค้าปลีกที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง

 การลงทุนภาคเอกชนในสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ภาคที่อยู่อาศัย (Non-residential investment) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในภาคที่อยู่อาศัยเริ่มทรงตัว หลังการลดลงติดต่อกัน 7 ไตรมาส

สำหรับอัตราเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE price index) ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐฯ ยังเผชิญกับการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงจากระดับ Stable เป็น Negative เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2566

เมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ saar.) รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในปีก่อน

เศรษฐกิจยูโรโซน

ขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย "เศรษฐกิจเยอรมนี" ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 0.2 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) ขณะที่ประเทศสมาชิกหลักอื่น ๆ ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ จากการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 43.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.4 ต่ ากว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 11 ไตรมาส ตามการชะลอตัวลงของอุปสงค์ภายในประเทศ จากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ในไตรมาสที่ 4 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวจนส่งผลต่อระดับค่าจ้าง ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง10 ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยังคงดำเนินมาตรการ Next Generation EU เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอลง ร้อยละ 3.4 ในปี 2565

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สาม ตามการลดลงของการบริโภคภายในประเทศเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการส่งออกยังคงลดลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 48.3 ต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ที่ร้อยละ 0.7 ต่อเนื่อง

จากการลดลงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.6 จากร้อยละ 17.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ในปี 2566 กลับมาขยายตัว ร้อยละ 19.8 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวจากภาวะขาดแคลนแรงงาน  รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นการปรับขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้อัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นแต่เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 2.9 ส่งผลให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงยังคงลดลงร้อยละ 2.2

ท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มีปรับมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปี กำหนดขอบบนของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ร้อยละ 1.0 แทนการกำหนดช่วงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ±0.5 เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจจีน

ขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและภาคบริการ ประกอบกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ยอดการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 8.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.6 สูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4  ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 87.5

เมื่อพิจารณาภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกสินค้าพบว่าเริ่มปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ เป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 256612

แต่การลงทุนภายในประเทศยังคงลดลงร้อยละ 12.1 เป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส โดยการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 16.5 ลดลงต่อเนื่องกัน 7 ไตรมาส ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China: PBOC) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและป้องกันเข้าสู่ "ภาวะเงินฝืด" โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่สี่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ (-0.3) ต่อเนื่องจากร้อยละ (-0.1) ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 57 ไตรมาส

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 5.2 สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 5.0 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในปี 2565

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs)

ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ โดยเฉพาะในหมวด "สินค้าเซมิคอนดักเตอร์" สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตอุตสาหกรรม

โดย "เศรษฐกิจเกาหลีใต้" และ "เศรษฐกิจสิงคโปร์" ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วน "เศรษฐกิจฮ่องกง" และ "เศรษฐกิจไต้หวัน" ขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส ที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.1 และร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงตามการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและค่าขนส่ง ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 1.1 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.8 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.6 จากปี 2565  ขณะที่ เศรษฐกิจฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.2 ฟื้นตัวจากการลดลงร้อยละ 3.5 ในปี 2565

เศรษฐกิจประเทศกลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า โดย เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 6.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.9 ร้อยละ 3.3 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาส ก่อนหน้า

ส่วน "เศรษฐกิจฟิลิปปินส์" ขยายตัวร้อยละ 5.6 เทียบกับร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของหลายประเทศส่วนใหญ่เริ่มผ่อนคลายลง ส่งผลให้ ธนาคารกลางมาเลเซียและเวียดนาม ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่วน ธนาคารกลางอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

รวมทั้งปี 2566 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.0 ร้อยละ 3.7 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 5.0ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.3 ร้อยละ 8.7 ร้อยละ 7.6 และร้อยละ 8.0 ในปี 2565