นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 1.9% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.5% และต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่า จะขยายตัวได้ 2.5% หลักๆ มาจากการหดตัวของภาคส่งออกสินค้า การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกภาคบริการยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
ด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.1% เร่งขึ้นจาก 6.2% ในปี 2565 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการ ขยายตัว 3.2% และ 38.3% ชะลอลงจาก 4.7% และ 59.9% ในปี 2565 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลง 1.7% เทียบกับการขยายตัว 5.4% ในปี 2565 และการลงทุนภาครัฐลดลง 4.6% เทียบกับการลดลง 3.9% ในปี 2565
รวมทั้งปี 2566 มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท (5.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 17.4 ล้านล้านบาท (4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 255,867.7 บาทต่อคนต่อปี (7,331.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 248,788.6 บาทต่อคนต่อปี (7,094.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ในปี 2565
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.3% ของจีดีพี
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่า จะขยายตัวในช่วง 2.2-3.2% หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เป็นเสมือนกับดักใหญ่ ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย 2.2 - 3.2% หรือขยายตัวเฉลี่ย 2.7% ด้วย 4 เรื่องหลักๆ คือ 1.การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
“ปัจจัยข้างต้นเหล่านี้นับเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย ซึ่งทุกหน่วยงานจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป”นายดนุชา กล่าว
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า จากจีดีพีที่ต่ำลงในปี 2566 มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาช้า ทำให้การลงทุนต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงภาคเอกชนชะลอตัวลง แต่เชื่อว่า ตัวเลขจีดีพีที่ 1.8% นั้นจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว และอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศไทยคือ ภาคการท่องเที่ยว
แต่จะทำอย่างไรให้จีดีพีประเทศไทย กลับมามีการเติบโตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเดิมในอดีตที่ประมาณ 5-7% นั้น มองว่า ทางแก้ไขไว้ 3 ทาง ได้แก่ 1. ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านของการรักษาสุขภาพ ดังนั้น ควรกระตุ้นในเรื่องของการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ (medical tourism) ให้มากขึ้น ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินได้ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ การท่องเที่ยว การอุปโภค-บริโภค ในไทยได้มากขึ้น กระจายรายได้ให้กับประชาชนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
2. ภาคการบริการ ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาด้านบริการ รวมถึงเพิ่มมูลค่าให้กับการบริการมากขึ้น เช่น การใช้ภาษาที่ 2 และ 3 ในการสื่อสารกับต่างชาติ และ 3. การหาธุรกิจที่เป็น New S-Curve หรือเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ จนนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับประชากรภายในประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ มองว่าการแก้ไขปัญหารายได้ประชากรในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ภาครัฐควรลงลึกถึงการแก้ไขปัญาหนี้ครัวเรือน แก้ไขปัญหาเงินฝืด ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศ จากปัจจัยที่กล่าวมาในข้างต้น หากว่าสามารถแก้ไขได้ก็จะทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีไทยกลับไปใกล้เคียงในอดีตได้อีกครั้ง
สำหรับขอเสนอแนะภาครัฐนั้น สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปต่อได้ นโยบายของกระทรวงการคลังและนโยบายทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ เป็นส่วนที่จะทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศใหญ่ๆ มีสัญญาณว่าอาจมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะได้เห็นการลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567 นี้ หรือในช่วงเดือนพฤษภาคม อย่างน้อย 1 ครั้ง