‘ธรรมนัส’ เตรียมเปิดเวทีวันสหกรณ์แห่งชาติ ถกลดดอกเบี้ยเงินกู้ 4.75%

24 ก.พ. 2567 | 02:27 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2567 | 02:31 น.

‘ธรรมนัส’ เตรียมเปิดเวทีวันสหกรณ์แห่งชาติ ถกประเด็นร้อน กรณีการลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ลง เหลือ 4.75% ทำได้หรือไม่ ด้านประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ระบุ มีแค่ 10% จาก 6,300 แห่งที่ทำได้ทันที

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เตรียมจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2567 โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดในวันที่ 26 ก.พ. 2567 

โดยกำหนดการภายในงานจัดให้มีพิธีวางพุ่มสักการะพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย พิธีเปิดศูนย์ประสานงานสหกรณ์ไทย-อาเซียน การแสดงและจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ไทย/อาเซียน รวมทั้งการเสวนา หัวข้อ แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศภายใต้ขบวนการสหกรณ์ประเด็น ปัญหาของสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรไทย อาทิ การพักชำระหนี้ แนวทางการช่วยเหลือ การยกเลิกผ่อนปรนข้อกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสหกรณ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หัวข้อสำคัญ คือการเปิดเวทีเสวนา ‘ชวนคิด ชวนคุย ดอกเบี้ย 4.75% ทำได้จริงหรือ?’ ดำเนินการเสวนาโดยนางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ และนายประเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์ฯ ซึ่งจะมีตัวอย่างของสหกรณ์ที่สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามนโยบายรัฐบาลได้ทันที และมีการตีแผ่ปัญหาของสหกรณ์ที่ยังไม่สามารถทำได้ เพื่อให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือ

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสหกรณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะมีสมาชิกทั่วประเทศมากกว่า 11.2 ล้านครัวเรือน หากนับเป็นรายหัวน่าจะมากกว่า 20 ล้านคน โดยมีหนี้ในระบบสหกรณ์มากกว่า 3 ล้านล้านบาท (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 1.4 ล้านล้านบาท) ปัจจุบันมีสหรกณ์ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่จริง 6,300 แห่ง

“ถ้านับจากปี 62 สหกรณ์หายไปเกือบครึ่ง เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินหมุนเวียน และการจัดทำบัญชี บางแห่งมีสมาชิกเป็นหนี้กว่า 200 ล้านบาท ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงเงินกู้ลง บางแห่งจึงไม่สามารถทำได้ในทันที เพราะเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ” 

ทั้งนี้ หากดูจากสหกรณ์ทั้งหมดทั่วประเทศ คาดการณ์ว่า น่าจะมีสหกรณ์ที่มีความพร้อมสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่า 4.75% ได้ และเริ่มดำเนินการแล้วเพียง 10% ของทั้งหมด เช่น สหกรณ์ตำรวจ มีคำสั่งการออกมาแล้วเริ่มดำเนินการทันทีทั้ง 130 แห่งทั่วประเทศ ส่วนสหกรณ์ครูสามารถทำได้เพียง 10% จากทั้งหมด ขณะที่สหกรณ์อื่น ๆ ก็จะอยู่ที่ในระดับใกล้เคียงกัน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้สหกรณ์ ไม่สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ ได้แก่ ต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินฝากสูงทำให้รายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยต่ำ แต่สมาชิกสหกรณ์มีสวัสดิการที่ต้องจ่าย ค่าดำเนินการต่าง ๆ ไปจนถึงค่าจ้างบุคลากร ทำให้สหกรณ์หลายแห่งถึงกับล้ม เพราะไม่สามารถหารายได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย

ปัจจัยที่ 2 คือ ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารที่สูงทำให้ต้นทุนทางการเงินของสหกรณ์สูงตาม เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร 5-7% ต่อปีสหกรณ์ก็ต้องบวกต้นทุนเพิ่ม 2-3% ต่อปี แล้วนำไปปล่อยกู้ต่อ ทั้งนี้ การที่สหกรณ์ต้องกู้สถาบันการเงิน ก็เพื่อให้มีสภาพคล่องหมุนเวียน และสหกรณ์ไม่ล้ม

และปัจจัยที่ 3 คือ การทำธุรกิจของสหกรณ์ติดล็อกกฎหมาย อยู่ภายใต้ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภท ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสหกรณ์เท่านั้น ทำให้แม้สหกรณ์หลายแห่งจะมีทรัพย์สินอยู่ในการครอบครอง แต่ไม่สามารถลงทุนลงทุนทำธุรกิจที่ทำกำไรสูงได้