KEY
POINTS
เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่ม “สหกรณ์ออมทรัพย์” ทั่วประเทศ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ได้ประกาศว่า รัฐบาลกำลังหาทางให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเหลือ 4.75%
ต่อมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง ขอความร่วมมือปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเหลือ 4.75% ตามนโยบายของรัฐบาล
โดยการประกาศกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงเหมือนจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า สันนิบาตสหกรณ์พร้อมนับสนุนนโยบายภาครัฐ ยินดีช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาหนี้ ลดดอกเบี้ย กำหนดอัตราเงินปันผลในเพดานที่เหมาะสม แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที
ปัจจุบันระบบสหกรณ์เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะมีสมาชิกทั่วประเทศมากกว่า 11.2 ล้านครัวเรือน หากนับเป็นรายหัวน่าจะมากกว่า 20 ล้านคน โดยมีหนี้ในระบบสหกรณ์มากกว่า 3 ล้านล้านบาท (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 1.4 ล้านล้านบาท)
จำนวนสหกรณ์ในไทย
“ถ้านับจากปี 62 สหกรณ์หายไปเกือบครึ่ง เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงินหมุนเวียน และการจัดทำบัญชี บางแห่งมีสมาชิกเป็นหนี้กว่า 200 ล้านบาท ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงเงินกู้ลง บางแห่งจึงไม่สามารถทำได้ในทันที เพราะเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ”
ทั้งนี้ หากดูจากสหกรณ์ทั้งหมดทั่วประเทศ คาดการณ์ว่า น่าจะมีสหกรณ์ที่มีความพร้อมสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำกว่า 4.75% ได้ และเริ่มดำเนินการแล้วเพียง 10% ของทั้งหมด เช่น สหกรณ์ตำรวจ มีคำสั่งการออกมาแล้วเริ่มดำเนินการทันทีทั้ง 130 แห่งทั่วประเทศ ส่วนสหกรณ์ครูสามารถทำได้เพียง 10% จากทั้งหมด ขณะที่สหกรณ์อื่น ๆ ก็จะอยู่ที่ในระดับใกล้เคียงกัน
1.ต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินฝากสูง
“หลักการของสหกรณ์คือ เพื่อนช่วยเพื่อน พี่น้องช่วยกัน ใครมีเงินนำมาปล่อยกู้ เพื่อแลกรับผลตอบแทนเล็กน้อย แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น สมาชิกสหกรณ์บางคน มีหุ้นเป็นร้อยล้านก็นำเงินมาฝากกินดอกเบี้ย เช่น ข้าราชการบางคน ฝากเงินหวังเพียงปันผลก็เหมือนพี่กินเงินน้อง ผมยอมรับบางทีคนในสหกรณ์ก็หลงทาง”
2.ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคาร
“ปัจจุบันมีสถาบันการเงินเพียงไม่กี่รายที่ช่วยเหลือสหกรณ์ อย่างเช่น ธนาคารออมสินที่มีสินเชื่อเพื่อสหกรณ์โดยเฉพาะดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.99% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปี แต่ก็เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น”
3.การทำธุรกิจของสหกรณ์
ปัจจุบันการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสหกรณ์นั้น อยู่ภายใต้ กฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการของสหกรณ์แต่ละประเภท ต้องเป็นไปตามมาตรา 33/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีใจความว่า
กำหนดลักษณะของสหกรณ์ที่จะรับจดทะเบียน วัตถุประสงค์ และขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการที่จะพึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภท ให้ถือปฏิบัติในการรับจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์และการรับจดทะเบียนข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
โดยประกาศดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์แต่ละประเภทมีความชัดเจน ให้สหกรณ์เป็นองค์กรหลักในการช่วยเหลือสมาชิกตามวิธีการ อุดมการณ์ และหลักการสหกรณ์ โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีสหกรณ์หลายแห่งที่มีทรัพย์สินอยู่ในการครอบครอง แต่ไม่สามารถลงทุนลงทุนทำธุรกิจที่ทำกำไรสูงได้ เพราะติดล็อกว่าต้องดำเนินกิจการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสหกรณ์เท่านั้น
“ถ้าสหกรณ์ไม่จำเป็นต้องกินแค่ส่วนต่างดอกเบี้ย จะสามารถช่วยให้สถานการณ์ของดีขึ้น สหกรณ์บางแห่งมีทรัพย์สิน แต่แปลงเป็นรายได้ไม่ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว สหกรณ์ควรทำธุรกิจได้เหมือนกิจการห้างร้าน เพียงแต่ต้องไม่เสี่ยง โดยสหกรณ์บางแห่งได้ลองทำแล้ว แต่ก็ถูกสั่งให้เลิกทำกิจการไป ถ้าลองเทียบกับกองทัพ ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อหารายได้ แต่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ สหกรณ์ก็ควรทำได้เช่นกัน”
แม้ปัจจุบันจะไม่มีการบังคับสหกรณ์ที่มีธุรกรรมสินเชื่อต้องเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร แต่แน่นอนว่า สหกรณ์หลายแห่งก็มีความประสงค์ต้องการจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพราะต้องการเห็นข้อมูลการเงินของผู้กู้ ว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่
แต่ปัญหาของการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรคือต้องรายงานงบการเงินและภาวะการปล่อยกู้ในทุกเดือน ซึ่งสหกรณ์แต่ละแห่งมีเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ และขาดความเข้าใจในเรื่องของระบบ นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะท้ายที่สุด ปัญหาคือต้นทุนแหล่งเงิน
“ปัจจุบันมีเพียงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กำหนดให้สหกรณ์ส่งข้อมูลผู้กู้ให้กับธนาคาร เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ”
สำหรับกรณีที่ หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น มั่นใจว่าจะสามารถช่วยให้ปัญหาของสหกรณ์หลายแห่งคลี่คลายลงได้ เพราะต้นทุนทางการเงินจะถูกลง
ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความเข้าใจใจดีว่า ธปท. ยังไม่สามารถดำเนินการลดดอกเบี้ยได้ เพราะสภาวะเศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยในระดับโลกยังไม่อยู่ในช่วงขาลง หากลดดอกเบี้ยก่อนหลายประเทศ เสี่ยงเงินทุนไหลออก และเงินบาทก็จะอ่อนค่า แต่ก็มองว่าหากมีมาตรการคุมเข้มค่าเงินบาทออกมาได้ ควรเร่งลดดอกเบี้ยโดยเร็ว เพราะขณะนี้หลายฝ่ายประสบปัญหาต้นทุนทางการเงินกันมาก
“ภาครัฐควรมีมาตรการทางการคลังออกมาสนับสนุนสหกรณ์ ในรูปแบบพักชำระดอกเบี้ย แต่ให้ชำระเงินต้นต่อไปให้ลดลง ไปจนถึงสินเชื่อ หรือเงินสนับสนุนในส่วนต่าง ๆ ส่วนเรื่องของแบงก์ชาติ ก็อยากให้ลองลงมาดูสภาพเศรษฐกิจฐานรากบ้าง ไม่ใช่นั่งดูเฉพาะตัวเลยอย่างเดียว”