ฐานเศรษฐกิจ ยังเกาะติดประเด็นการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้าประเทศซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยในส่วนของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ขยายผลการสอบสวนกรณีนำเข้าชิ้นส่วนซากสัตว์ ประเภทสุกร ไก่ และเนื้อมาต่อเนื่องพบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นมีทั้งข้าราชการ นักการเมือง และกลุ่มนายทุนใหญ่อยู่เบื้องหลัง
ความคืบหน้าล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าตรวจสอบและขออนุมัติหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้น 2 จุด คือ บริษัท พี ซี ฟู๊ดเซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการในเขตปลอดอากร PM FREE ZONE และ บจ. พี ซี ฟู๊ดเซ็นเตอร์ สำนักงานใหญ่
ผลการตรวจค้นในเขตปลอดอากร พบการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ สุกร เครื่องในโค ตีนไก่ มาตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2563 ถึงมกราคม 2567 จำนวน 3,469 ตู้ มีมูลค่าความเสียหายด้านภาษีอากร รวม 1,387,600,000 บาท นอกจากนี้ยังพบบัญชีค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปลัด และนักข่าวด้วย
การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิด้านภาษีอากรที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริโภคสินค้าและการแข่งขันในราคาที่เป็นธรรมของผู้ประกอบการภายในประเทศก่อให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ขออนุมัติต่อศาลอาญาออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 5 ราย เป็นนิติบุคคล 4 ราย และบุคคลธรรมดา 1 ราย
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 127/2556 กรณีลักลอบนำเข้าสุกรและชิ้นส่วนไก่ฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี จำนวน 2 หมาย
เข้าตรวจค้นบริษัท พี ซี ฟู้ดส์ เซ็นเตอร์ จำก้ด และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นสถานประกอบการในเขตปลอดอากร (FREE ZONE) ตั้งอยู่พื้นที่ อ.บางบัวทองและ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เพื่อพบพยานหลักฐานอันเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวนจากการที่กรมศุลกากร ได้ดำเนินการตรวจสอบตู้สินค้าเพิ่มเติม พบว่า มีสินค้าประเภทซากสัตว์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 16 ตู้ และชิ้นส่วนไก่ จำนวน 74 ตู้
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงสืบสวนสอบสวนขยายผลพบว่า มีบริษัทในเครือได้จดทะเบียนโดยใช้ชื่อพนักงานบริษัท เพื่อน และญาติเป็นหลายบริษัท เพื่อเป็นการกระจายการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ทุกชนิดเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบังและยังไม่เคยปรากฎว่า เคยถูกตรวจสอบหรือถูกดำเนินคดีอาญามาก่อนแต่อย่างใด โดยได้เคยนำเข้ามาซึ่งซากสัตว์ประเภท สุกร ชิ้นส่วนไก่เนื้อวัวจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายภายในประเทศไทยแล้วจะนำมาเก็บรักษาไว้ในเขตปลอดอากร (FREE ZONE) โดยมีบริษัทหนึ่งมีห้องเย็นในพื้นที่ดังกล่าวโดยจะทยอยเคลื่อนย้ายออกไปยังตู้เย็นต่าง ๆ เพื่อรอส่งจำหน่ายต่อไป
จากผลการตรวจค้นได้ยึดเอกสารการนำเข้าสินค้าชนิดซากสัตว์ (เนื้อโค) ปี พ.ศ. 2566 – 2567 เอกสารเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน และคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่องมาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี