ครม.ตั้ง "ชยธรรม์" ประธานบอร์ด การท่าเรือ ดึง "วิสนุ" นั่งกรรมการ

03 มี.ค. 2567 | 09:33 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2567 | 09:34 น.

ครม.ไฟเขียวตั้ง “ชยธรรม์ พรหมศร” ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมดึง พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ นั่งกรรมการ เช็ครายชื่อบอร์ดทั้ง 11 คนรวมไว้ที่นี่

วันนี้ (3 มีนาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย รวม 11 คน เพื่อแทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์และขอลาออก ดังนี้

  1. นายชยธรรม์ พรหมศร ประธานกรรมการ
  2. นายคุณดร งามธุระ กรรมการ
  3. นายจำเริญ โพธิยอด กรรมการ(ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
  4. นายชารีย์ บำรุงวงศ์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
  5. นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ กรรมการ
  6. นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ
  7. นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร กรรมการ
  8. นายรุธิร์ พนมยงค์ กรรมการ
  9. พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ กรรมการ
  10. นางสาวสุทิษา ประทุมกุล กรรมการ
  11. นายอนันต์ แก้วกำเนิด กรรมการ

สำหรับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นั้น คณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติการท่าเรือ แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 22 (แก้ไขเพิ่มโดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499) ประกอบด้วย 

ประธานกรรมการ 1 คน กรรมการอื่นไม่น้อยกว่า 6 คนแต่ไม่เกิน 10 คน ซึ่งอย่างน้อยจะต้องเป็นผู้มีความรู้และจัดเจนเกี่ยวกับท่าเรือ 1 คน และเกี่ยวกับการเศรษฐกิจหรือการคลัง 1 คน มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย และควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 29

ส่วนบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีดังนี้

1. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับขององค์กร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และจะต้อง ระวังรักษาประโยชน์ขององค์กร

2. กำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรและกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดแก่องค์กร

3. ให้ความเห็นชอบแผนต่างๆ และนโยบายที่สำคัญขององค์กร

4. พิจารณาอนุมัติรายการที่สำคัญ เช่น โครงการ/งาน/ธุรกิจใหม่ การซื้อ/ขายทรัพย์สิน การดำเนินการใดๆ ที่กฎหมาย กำหนด การซื้อ/การจ้าง ตามอำนาจและวงเงินที่กำหนดให้มีอำนาจอนุมัติตามระเบียบพัสดุการท่าเรือฯ

5. จัดให้มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน และการตรวจสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ รวมทั้งดูแลให้มีกระบวนการในการ ประเมินติดตามผลของการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายใน การบริหารจัดการความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล

6. ดูแลไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

7. มีอำนาจว่าจ้างที่ปรึกษา หรือบุคคลภายนอกตามระเบียบของการท่าเรือฯ มาให้ความเห็นหรือคำปรึกษาในกรณีจําเป็น

8. รับผิดชอบต่อผลประกอบการ และการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร โดยให้มีความตั้งใจและความระมัดระวังในการ ปฏิบัติงาน

9. กำกับดูแลกิจการโดยมีการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรม