เงินเฟ้อ เงินฝืด เป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีคนพูดถึงกันมากในขณะนี้ ล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ.2567 เท่ากับ 107.22 เทียบกับ ม.ค.2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 เทียบกับเดือน ก.พ.2566 ลดลงร้อยละ 0.77 เป็นการลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5
สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาปรับลดลง รวมทั้งน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
"เงินเฟ้อติดลบ" Disinflation แตกต่างกับ "เงินฝืด" หรือ Deflation อย่างไร เเล้ว กระทบต่อชีวิตของพวกเราหรือไม่ วันนี้มาลองไขข้อสงสัย
เงินเฟ้อ คือ ช่วงที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในเชิงของมูลค่าของเงินกลับต่ำลง ซึ่งก็เกิดจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าและบริการเหล่านั้นอาจมีไม่พอ ทำให้คนขายสินค้าปรับราคาและบริการสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตแบกต้นทุนไม่ไหว จึงปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น
สมมุติว่า ในอดีตข้าวแกง 1 จาน ราคา 30 บาท แต่วันนี้เมนูเดิมราคาขึ้นไปเป็น 40 บาท หมายความว่า เงิน 30 บาทในวันนี้มีค่าน้อยกว่าเงิน 30 บาทในอดีต
ดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดระดับเงินเฟ้อ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) เป็นตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนบริโภค เป็นราคาในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาในปีที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน
เงินเฟ้อที่ต้องกังวล
เงินเฟ้อไม่ได้แย่เสมอไป เพราะในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ถือเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เเล้วอัตราเงินเฟ้อที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ต้องระวัง คือช่วงไหน
เงินเฟ้อที่ติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น
เงินเฟ้อติดลบแบบกระจายตัวไปในหมวดสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทำให้เกิดผลกระทบในหลายหมวดหมู่ธุรกิจ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัยสำคัญ
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะติดลบ รวมถึงอัตราการว่างงานของแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"เงินเฟ้อติดลบ" หากเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานก็อาจทำให้เกิด "ภาวะเงินฝืด" ซึ่งก็คือ ช่วงที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงนั่นเอง เกิดขึ้นได้ 2 สาเหตุ คือ ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้า บริการที่ลดลงและต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดต่ำลง
หลายคนอาจมองว่าสินค้าราคาลดลงเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงเเล้ว จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากราคาสินค้าที่ลดต่ำ ก็หมายถึง รายได้ของผู้ผลิตลดลงตามไปด้วย ผู้ผลิตอาจต้องลดการผลิตลงรวมทั้งลดการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของคนในประเทศ
ที่มา