วันนี้ (7 มีนาคม 2567) ที่รัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบกระทู้ถามนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องปัญหาการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือ ในปี 2597 จริงหรือไม่ และมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่เปรียบเป็นเสมือนระเบิดเวลาอย่างไร
นายพิพัฒน์ตอบว่า ไม่ปฏิเสธว่า ถ้าไม่มีการแก้ไข ในปี 2597 กองทุนประกันสังคมจะไม่เข้าสู่จุดสมดุล หลังปี 2597 แนวโน้มบัญชีขาดดุล ขาดทุนในทุก ๆ ปี แต่วันนี้เรายังมั่นใจว่า กองทุนประกันสังคมยังไม่มีความเสี่ยง
นายพิพัฒน์กล่าวว่า เงื่อนไขข้อแรกที่จะยืดชีวิตของกองทุนประกันสังคม ตนตั้งสมมุติฐานว่า หลังจากปี 2568 เป็นต้นไป จะต้องนำกองทุนประกันสังคมไปหาดอกผลให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 % ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะสามารถทำได้ในช่วง 3-4 % ทั้งนี้ในปี 2566 มีดอกผลจากกองทุนประกันสังคมประมาณเกือบ 60,000 ล้านบาท หรือ ไม่ถึง 3 %
นายพิพัฒน์กล่าวว่า เงื่อนไขที่สอง กระทรวงแรงงานตั้งใจว่า จะต้องขยายเพดานของฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ไม่เกิน 15,000 บาท เป็น 17,500 บาท ในปี 2568
“วันนี้รัฐบาลส่งเงินสบทบกองทุนประกันสังคม 2.75 % เป็นไปได้หรือไม่ การจะยืดชีวิตกองทุนประกันสังคมออกไปไม่มีที่สิ้นสุด รัฐบาลควรจะสมทบได้แล้วที่ 5 % ส่วนเวลาเมื่อไหร่ต้องหารือกันอีกครั้ง”นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ต้องหาวิธีคิดอายุ 60 ปีพอหรือไม่ หลังจากนี้ไปอีก 5 ปี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะค่อย ๆ ขยับการเกษียณ จาก 60 ปี เป็นอายุ 61-65 ปี เราต้องคิดทุกวิถีทางในการสร้างกองทุนประกันสังคม
“ในเดือนพฤษภาคมนี้ ผมจะเชิญพรรคการเมืองทุกพรรค ระดมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยกระทรวงแรงงานจะเป็นเจ้าภาพในการจัดจัดเสวนาเรื่องกองทุนประกันสังคม เราจะหาทางออกอย่างไรให้เงินกองทุนประกันสังคมมีชีวิตที่ไม่มีที่สิ้นสุด”นายพิพัฒน์กล่าว
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานตามผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 12 ล้านคน มาตรา 39 ประมาณ 1 ล้านคน และมาตรา 40 ประมาณ 11 ล้านคน รวมประมาณ 25 ล้านคน ขณะที่ ณ สิ้นปี 2566 กองทุนประกันสังคมมีเงินทุนจำนวน 2.497 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่ายปี 2566 จ่ายออก 1.413 ล้านล้านบาท หักลบยังมีเงินเหลือ 1.569 ล้านล้านบาท คาดว่าในปี 2597 คาดว่ากองทุนประกันสังคมจะมีเงินเกือบ 6 ล้านล้านบาท
“แต่หลังจากปี 2597 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้เพิ่มขึ้นทุกปี แต่การเก็บคงที่ยังไงก็ถึงจุดล้มละลายอย่างชัดเจน”นายพิพัฒน์กล่าวและว่า
“ผมไม่ใช่พระเอก แต่ผมก็ไม่ยอมที่จะเป็นผู้ร้าย เป็นคนที่ทำให้กองทุนประกันสังคมล้มละลาย”นายพิพัฒน์ทิ้งท้าย