หลังจากได้ว่าที่คณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ จากการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทยมาแล้ว ทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง หนึ่งในสิ่งที่ผู้ประกันตนตั้งความหวังกับการทำงานของบอร์ดประกันสังคมชุดใหม่นี้ นั่นคือสิทธิการรักษาพยาบาลที่ไม่เกิดความเหลือมล้ำกับสิทธิการรักษาของคนกลุ่มอื่นๆในประเทศ
นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค เคยแสดงความเห็นไว้ว่า คนในประกันสังคมยังเป็นคนกลุ่มเดียวของประเทศนี้ที่น่าสงสารมาก คือเขาต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเองสองต่อ ส่วนหนึ่งคือการหักทุกเดือน อีกส่วนคือจ่ายผ่านภาษีไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้มาก็ไม่ค่อยโอเค ในขณะที่คนกลุ่มอื่นๆ ทั้งประเทศจ่ายผ่านระบบภาษีไปแล้ว เช่น สิทธิบัตรทอง และสิทธิข้าราชการ และได้บริการและสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากกว่า
พร้อมยกตัวอย่างข้อจำกัดในการรักษาโรคมะเร็งด้วยสิทธิประกันสังคม ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบประกันสังคมจะมีเพดานเงินในการรักษา เช่น สมัยก่อนกำหนดไว้ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งอันตรายมาก เพราะแค่ผู้ป่วยอยู่ในช่วงเคมีบำบัดอะไรแบบนี้ก็ไม่พอแล้ว รวมถึงบางกรณีอาจต้องการการรักษาในทางเลือกอื่นๆ ด้วยแต่ทำไม่ได้เพราะติดที่เพดานเงิน ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างโรคเดียว ยังมีรายการโรคที่เกิดขึ้นแบบนี้อีกเยอะมาก
เมื่อพิจารณางบประมาณของสิทธิการรักษาระหว่างสิทธิบัตรทอง กับสิทธิประกันสังคมพบว่า งบเหมาจ่ายรายหัว สิทธิบัตรทอง 2566 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ที่ 3,385.98 บาท/คน ในขณะที่สิทธิการรักษาของผู้ประกันตน มีอัตราเหมาจ่ายรายหัวราว 3,000-4,000 บาท/คน
ซึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกับระบบบัตรทองในแง่ของการบริหารจัดการ แต่ในรายละเอียดการจ่ายให้กับโรงพยาบาลนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะ สปส. จะจ่ายรวมทั้งเงินค่าเหมาจ่ายรายหัวและเงินกองทุนการรักษาย่อยรวมเป็นก้อนเดียวให้กับโรงพยาบาลคู่สัญญา
บัตรทอง คือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือที่หลายๆ คนเรียกว่า บัตร 30 บาท รักษาทุกโรค ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิ คือ บุคคลที่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้ และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือผู้ที่ลาออกและเกษียณจากประกันสังคมแล้วเท่านั้นถึงสามารถใช้สิทธินี้ได้
สิทธิบัตรทอง
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมาย โดยจะทำการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5%
สิทธิประกันสังคม