KEY
POINTS
วันนี้ (4 มีนาคม 2567) นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยบทความพิเศษ “พลิกมุม PISA ปัจจัยที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กไทย" ว่า ขณะนี้สถานการณ์ "การศึกษาของไทย" เป็นปัญหาสะสมมานานและเริ่มส่งสัญญาณเข้าขั้นวิกฤต
สะท้อนจากตัวชี้วัดทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติทั้งจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การทำงานต่ำกว่า ระดับการศึกษาหรือจบในสาขาที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ไปจนถึงการมีคุณภาพการศึกษาที่ลดลง
โดยเฉพาะผลคะแนนสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment : PISA) ปี 2565 เป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ใน 81 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยประเทศไทยได้คะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงสะท้อนคุณภาพการศึกษาภายในประเทศที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
การประเมินล่าสุดในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมการทดสอบกว่า 690,000 คน จากจำนวนนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี รวม 29 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 8,495 คน จาก 279 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา โดยภาพรวมของประเทศไทย ในปี 2565 คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่การเข้าร่วม การประเมินในปี 2543
โดยปี 2565 เด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ขณะที่กลุ่มประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน
6 ปัจจัยกระทบคุณภาพการศึกษาเด็กไทย
สศช.ได้ประเมินปัจจัยที่มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นสาเหตุที่คุณภาพการศึกษาต่ำ คือ หลักสูตร ครู หรือการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และยังพบปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็ก อย่างน้อย 6 ข้อ ดังนี้
1.ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
เด็กที่มีรายได้น้อยได้ทานอาหารไม่ครบทุกมื้อ ภาวะทุพโภชนาการจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งผลสำรวจด้านคุณภาพชีวิตของ PISA พบว่า ไทยมีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้ทานอาหารครบทุกมื้อเนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ สูงเป็นอันดับ 6 จากประเทศทั้งหมด 80 กว่าประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ รองจากประเทศกัมพูชา จาเมกา อาเซอร์ไบจาน ฟิลิปปินส์ และโคโซโว
โดยนักเรียนไทยไม่ได้ทานอาหารครบทุกมื้อมีสัดส่วน 27.6% ของนักเรียนที่เข้าร่วมทดสอบทั้งหมดอีกทั้งครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีแนวโน้มที่จะสามารถสนับสนุนหรือส่งเสริมการเรียนของเด็กได้อย่างจำกัด ทั้งเวลา เทคโนโลยี และสถานศึกษา
ขณะที่เด็กในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมีแนวโน้มที่ครอบครัวจะสนับสนุนการศึกษาหรือการเรียนได้มากกว่า สะท้อนจากอัตราการเรียนสุทธิระดับปริญญาตรี ปี 2565 ของเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด (Decile ที่ 1) ที่อยู่ในระดับต่ำ 1 ส่วนเด็กในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีที่สุด (Decile ที่ 10) มีอัตราสูงถึง 73.6%
2.การกระจายทรัพยากรทางการศึกษา
ข้อมูลพบว่า มีความแตกต่างกันตามขนาดโรงเรียนและสังกัด โดยผลคะแนน PISA พบว่า กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาซึ่งมีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน ต่ำกว่ากลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา มีสาเหตุสำคัญจากการกระจายทรัพยากรทางการศึกษา ทั้ง การให้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐตามขนาดโรงเรียน
จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 พบว่า 51.2% ของโรงเรียนทั้งหมดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีขนาดนักเรียนไม่เกิน 120 คน ซึ่งจะได้งบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
เช่นเดียวกับการจัดสรรบุคลากรครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง เนื่องจากหลักเกณฑ์ระบบการจัดสรรครูจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ประเภทโรงเรียนและขนาดของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบทได้รับการจัดสรรครูน้อย และทำให้ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนหลายระดับชั้นหรือหลายรายวิชา
ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่ากลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐตามขนาดโรงเรียน รวมถึงการจัดสรรบุคลากรครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง
3.บทบาทของครอบครัวที่น้อยลง
จากผลสำรวจ PISA พบว่า ผู้ปกครองไทยรับรู้ผลการเรียนของบุตรหลานน้อยเป็นอันดับ 3 จากประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมทดสอบ (79 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจ) โดยไทยมีสัดส่วนเด็กที่ผู้ปกครองได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนและผลการเรียนของบุตรหลานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพียง 34.6% ต่ำกว่าประเทศสมาชิก OECD ที่อยู่ที่ 65.2%
ขณะที่สัดส่วนเด็กที่ครอบครัวมีการสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนในแต่ละวัน อย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ร่วมกับมาเก๊า โดยมีสัดส่วนเพียง 51.6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ที่อยู่ที่ 77.4% และตามหลังกัมพูชา และเวียดนาม ที่มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 54.4% และ 53.3% ตามลำดับ
4.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กลดลง
ผลการสำรวจของ PISA ชี้ให้เห็นว่าครูมีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กลดลง แม้ว่าในปี 2565 นักเรียนไทย 75.8% ระบุว่า ครูมีความสนใจต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนในวิชาคณิตศาสตร์ และให้ความช่วยเหลือเมื่อนักเรียนต้องการ อีกทั้ง 72.6% ระบุว่า ครูมีการสอนอย่างต่อเนื่องจนนักเรียนเข้าใจ ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างสูง
ส่วนหนึ่งเกิดจากภาระงานของครูไทยที่มีจำนวนมากนอก เช่น การจัดทำรายงานเพื่อใช้เลื่อนตำแหน่ง โดยการศึกษาของ OECD พบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน และความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียน จะส่งให้ผลสัมฤทธิ์การเรียน ความเป็นอยู่ และทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนดีขึ้น
5.ความปลอดภัยของนักเรียน
ผลสำรวจของ PISA ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความปลอดภัยของเด็ก โดยเด็กไทยมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 จาก 75 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ ซึ่งดัชนีความรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ที่พิจารณาจากความปลอดภัยของการเดินทางไปกลับระหว่างโรงเรียนและบ้าน
รวมทั้งความปลอดภัยในห้องเรียน และรอบบริเวณโรงเรียน พบว่า เด็กไทยมีคะแนนอยู่ที่ -0.47 ซึ่งถือว่าอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า เด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและการไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่กระทำจากบุคลากรในสถานศึกษา
จากข้อมูลของคุรุสภา พบว่า ปี 2554 - 2566 มีครูกระทำผิดจรรยาบรรณ 174 คน จากการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน การลงโทษนักเรียนโดยใช้วิธีการรุนแรงจนท าให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้ง ข้อมูลการละเมิดเด็กในวัยเรียนของ สพฐ. ในปี 2556 – 2562 พบว่า มีทั้งหมด 1,186 กรณี โดย 8.9% เป็นการล่วงละเมิดทางเพศโดยครู
ขณะเดียวกันเด็กยังมีโอกาสเผชิญกับอันตรายในด้านอื่น อาทิ การก่ออาชญากรรมในโรงเรียน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น เหตุกราดยิงในโรงเรียน การพกอาวุธเข้ามาทำร้ายเด็กในโรงเรียน รวมทั้งเด็กยังมีโอกาสเผชิญกับอันตรายอื่น ๆ ทั้ง การก่ออาชญากรรมในโรงเรียน โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีมาตรการรับมือที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร นอกจากนี้ เด็กไทยมากกว่า 1 ใน 3 ยังถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ในสถานศึกษาอีกด้วย
6.สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้โดยเด็กไทย
โดยการสำรวจ PISA พบว่า ในปี 2565 เด็กไทยเกือบ 3 ใน 4 ระบุว่าบรรยากาศในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะการมีเสียงรบกวน และความวุ่นวาย โดยมีเด็กที่ระบุว่าเผชิญปัญหาดังกล่าวถึง 24.7% ขณะที่นักเรียนที่ไม่เริ่ม/ตั้งใจเรียนหลังครูเริ่มสอนมีสัดส่วน 21.8%
อีกทั้ง 26.4% ของนักเรียนถูกรบกวนจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล และ 22.9% ถูกทำให้เสียสมาธิจากนักเรียนคนอื่นที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระทบต่อสมาธิในการเรียนของเด็กและจะกระทบต่อผลคะแนนในที่สุด โดยผลการสำรวจเยาวชนปี 2565 ของ คิด for คิดส์ พบว่า นักเรียนบางส่วนเคยเผชิญปัญหา ในสถานศึกษา ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและด้านทรัพยากร เช่น ครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือ สื่อการสอนล้าสมัย ด้วย