วันที่ 7 มี.ค. 67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร" โดยร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการจุฬาอารี และ World Bank
พร้อมทั้งแถลงนโยบายการขับเคลื่อนงาน 5 ด้านสำหรับประชากร 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการและผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มระบบนิเวศน์(ครอบครัว) เพื่อความมั่นคงของครอบครัว
นายวราวุธ กล่าวว่า หลังจากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ กระทรวง พม. จะดำเนินการจัดทำสมุดปกขาว “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
จากนั้นจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (57th Session of Commission on Population and Development : CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2567
ในตอนหนึ่งนายวราวุธ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะกล่าวต่อจากนี้ต้องรีบทำไม่เช่นนั้นจะไม่ใช่การตายเดี่ยวแต่จะตายหมู่ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกัน เริ่มจากปัญหาสังคมสูงวัย ถ้าอัตราการเกิดของไทยยังเป็นแบบนี้อีก 60 ปี จากนี้ระยะยาวไปประชากรไทยจาก 66 ล้านคน จะเหลือ 30-32 ล้านคนเท่านั้น
แต่ระยะสั้น 5-10 ปี จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ขนาดครอบครัวเล็กลง จากเคยมีลูก 6-7 คน เหลือ 1 คน สัดส่วนจาก 6:1 เป็น 1:1 ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.3:1 เกาหลีใต้ 0.7 : 1 คน สัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง ในขณะที่ สัดส่วนประชากรสูงอายุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“สังคมไทยเข้าสู่สังคม Super Aging Society หรือ สังคมสูงอายุขั้นสุดยอดอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนประชากรจะเป็นพีรามิดกลับหัวเพราะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนทำงานและเด็กเกิดใหม่ลดลง ย้อนไปเมื่อสมัยที่ตัวเองเกิดมีประชากรเกิดใหม่ปีละล้านกว่าคน ก็เท่ากับว่าหลังจากนี้ก็จะมีคนเข้าสู่สังคมสูงวัยปีละล้านคน ยิ่งที่ให้อัตราเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอดเร็วกว่าเดิม”
นอกจากนี้กลุ่มคนที่เกื้อหนุนผู้สูงอายุ หรือ ซัพพอร์ตดูแลผู้สูงอายุ เมื่อก่อนอัตราส่วน 6:1 คน แต่ตอนนี้เหลือ 3.2:1 หมายความว่าผู้สูงอายุ 1 คน คนดูแลลดลงจาก 6 คนเหลือ 3.2 คน และอีก 10 ปี ข้างหน้าก็จะเหลือ 2 คนเท่านั้น “ทำให้คนเจเนเรชั่นหน้าหรือ Gen Z Gen Alpha ก็จะเป็นเดอะแบกของจริง”
นายวราวุธ กล่าวว่า มีการพูดถึงสวัสดิการทั่วถึงถ้วนหน้า แต่ต้องพูดก่อนว่าตอนนี้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุผ่านเบี้ยยังชีพในปี 2566 จำนวน 7.7 หมื่นล้าน ในการดูแลจำนวน 10.3 ล้านคน ซึ่งยังไม่ใช่ระบบถ้วนหน้า หากยังใช้ระบบขั้นบันไดแบบนี้จะต้องใช้งบฯ 1.2 แสนล้านบาท หากมีการเปลี่ยนเป็นการแจก 1,000 บาท แบบถ้วนหน้าทุกคนต้องใช้งบ 1.9 แสนล้านบาท หากเพิ่มเป็น 3,000 บาท ต้องใช้ 5.6 แสนล้านบาท
“ดังนั้นกองทุนด้านสังคมต่างๆในวันนี้ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น คนทำงานลดลง รายรับมีน้อยกว่ารายจ่าย เหลืออยู่คำเดียวคือล้มละลาย พังแน่นอนครับ แล้วจะทำอย่างไร”
ส่วนการดูแลด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพ คาดการณ์ว่าจะต้องดูแลเพิ่มเป็น 15 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า และต้องใช้เงินดูแลการประกันสุขภาพสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ทั้งเบี้ยยังชีพ ค่ารักษาร่างกาย เมื่อรวมกันแล้วอาจจะตกหลักล้านล้านบาท
รมว.พม. กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาสังคมสูงวัยแล้ว เด็กยังเกิดน้อยลง แรงงานก็น้อยลง บางครั้งคุณภาพก็ไม่ถึง เพราะการศึกษาที่ต้องการการพัฒนาคนให้ได้ดีกว่านี้ หากคนน้อยลงแล้วคุณภาพแย่ลง แล้วประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหน
ครอบครัวของประเทศไทยกำลังจะหายไป ครัวเรือนที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น จากเดิมปี 2558 มี 16% เพิ่มเป็น 21% หรือในจำนวน เด็ก 0-6 ขวบ จำนวน 4 ล้านคน ที่อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ด้วยกัน ส่วนผู้สูงอายุ มีทั้งอยู่ลำพัง และอยู่แค่ปู่-ย่า ตา-ยาย เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาคือ สมรสน้อยลง อยากอยู่คนเดียวคือความท้าทายที่มีมากขึ้น
“สิ่งที่เป็นกับดักคือ ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางนี้ได้อย่างไร และจะยิ่งยากเข้าไปอีก ตลาดเราก็จะเล็กลง กำลังการผลิตจะลดลง โปรดักทิวิตี้น้อยลง และคุณภาพยังไม่ถึงอีกด้วย จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยลงไปเรื่อยๆ และกระทบกันเป็นลูกโซ่ ทุกกระทรวงจะโดนกันถ้วนหน้า”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น รมว.พัฒนาสังคม ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา 5 ด้านสำหรับกลุ่มประชาชน 5 กลุ่มด้วย 5 นโยบาย
นโยบายที่ 1 เสริมพลังวัยทำงาน
ต้องทำให้คนวัยทำงานตั้งตัวลืมตาอ้าปากได้ ยืนในสังคม สร้างครอบครัวดูแลครอบครัวได้ ด้วยการสร้างงานที่มีคุณค่าให้เขา ด้วยธุรกิจใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆสำหรับคนรุ่นใหม่ ลดการโยกย้ายคนมาทำงานในเมือง สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ บ้านจะได้เป็นบ้าน ชุมชนจะได้เป็นชุมชน
เร่งพัฒนาศักยภาพการทํางานของประชากรรุ่นสึนามิ (อายุ 40-59 ปี ในปัจจุบัน) ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สามารถเปลี่ยนงานให้เหมาะสมกับวัยได้ สร้างค่านิยมการทํางานเชิงเศรษฐกิจยามสูงอายุ
เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เสริมทักษะที่จําเป็นในการดําเนินชีวิต เช่น ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ด้านการจัดการเงิน (Financial Literacy) ด้านดิจิทัล (Digital Literacy)
นโยบายที่ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน
นายวราวุธ กล่าวว่า “เด็กน้อย แต่ต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ” ด้วยการ เร่งปฏิรูปคุณภาพการศึกษา พัฒนากําลังคนให้มีคุณภาพ มีความรู้สามารถนําความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างตน สร้างครอบครัวและสังคม บนพื้นฐานของคุณธรรมและการมีจิตสาธารณะ ปรับระบบนิเวศการเรียนรู้หลักสูตร ระบบการสอน เทคโนโลยี นวัตกรรม สื่อการสอน และสมรรถนะครูผู้สอน พัฒนาระบบการศึกษา ตอบสนองการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต สามารถนําความรู้และทักษะไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะท้องถิ่นในการสนับสนุนระบบนิเวศการเรียนรู้ เช่น ความรู้ระบบรถ EV, เทคโนโลยีใหม่ ๆ
ลดความเหลื่อมลํ้าในโอกาสทางการศึกษา ดูแลและพัฒนากลุ่มเด็กด้อยโอกาสและกลุ่มเด็กเปราะบางให้กลายเป็นกําลังคนที่มีคุณค่า
นอกจากนี้ต้องสร้างความตระหนักและความเข้าใจการวางแผนชีวิตครอบครัวให้แก่เด็กและเยาวชน วางแผนชีวิตการทํางาน วางแผนการสร้างครอบครัว เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และส่งเสริมให้สร้างครอบครัวที่มั่นคงเมื่อพร้อม
ปรับบทบาทของโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสามวัย ใช้พื้นที่ในการอบรมให้ความรู้กับ ประชากรวัยทํางานและวัยสูงอายุเป็นพื้นที่ทํากิจกรรมต่างๆ
เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาระบบอาชีวะควบคู่กับการศึกษาสามัญโดยเน้นพัฒนาให้ สอดรับกับการเติบโต ทิศทางการพัฒนา และอุปสงค์แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ
นโยบายที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ
รมว.พม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส ด้วยการเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงงอายุไม่ใช่ภาระ แต่ผู้สูงอายุ คือ ผู้เชี่ยวชาญชีวิตและเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ที่มีค่า
ต้องปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Working) เหมาะกับศักยภาพหรือสมรรถนะผู้สูงอายุ เวลาและสถานที่ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายอายุ การทํางานทั้งในภาครัฐและเอกชน ขยายอายุเกษียณราชการออกไปอีก 5 ปี โดยไม่ทํางานในตําแหน่งบริหาร
ส่งเสริมให้ภาคเอกชนขยายอายุการทํางานของลูกจ้างสูงอายุและส่งเสริมการจ้างผู้สูงอายุ เข้ามาใหม่ เพื่อเป้าหมาย คือเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุ ให้คงอยู่ในระบบแรงงาน ให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ต้องมีระบบสนับสนุนครอบครัวและชุมชนในการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ระบบบริบาลชุมชน ระบบการดูแลสุขภาพระยะกลาง (Intermediate Care) ระบบดูแลสุ ขภาพระยะยาว (Long-Term Care) บริการทางสังคมสําหรับผู้สูงอายุ มีระบบการให้ข้อมูลและข่าวสาร และการเรียนร้ต่อเนื่องตลอดชีวิตแก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถรับร้ข้อมูลข่าวสาร และรู้ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
นโยบายที่ 4 เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ
นายวราวุธ กล่าวว่า ด้วยการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มความรอบรู้และทักษะที่จําเป็นในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ต้องสร้างเส้นทางอาชีพปรับสภาพแวดล้อมในการทํางาน ปรับระบบการทํางานที่ยืดหยุ่น (work from anywhere) และสร้างระบบสนับสนุนการทํางานสําหรับคนพิการ ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมและเพิ่มการเข้าถึง เพื่อลดข้อจํากัดทางร่างกายของคนพิการ เสริมศักยภาพของครอบครัวและชุมชนในการดูแลคนพิการและกลุ่มเปราะบางที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้แบบองค์รวมอย่างมีคุณภาพ
นโยบายที่ 5 สร้างระบบนิเวศ (Eco-system) เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
นายวราวุธ กล่าวว่า ด้วยการจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้าเพื่อสร้างและพัฒนาครอบครัว เชื่อมระบบสวัสดิการทั้งหมดเข้าด้วยกัน สร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยหรือบ้าน ปรับปรุงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยโดยม่งเป้าที่กลุ่มประชากรวัยแรงงานกําลังสร้างครอบครัว หรือ ครอบครัวที่ให้การดูแลผู้สูงอายุ
การปรับสภาพแวดล้อมภายในที่อยู่อาศัย โดยใช้ Universal Design ให้เหมาะสมสําหรับสมาชิกทุกวัย สร้างพลังให้ชุมชนและท้องถิ่นสามารถดูแลเกื้อหนุนและพัฒนาประชากรในพื้นที่ของตนได้ ทั้งในมิติสังคมสุขภาพ เศรษฐกิจ และ สภาพแวดล้อมเพื่อให้เป็นชุมชนน่าอยู่และช่วยเสริมสร้างครอบครัวที่มั่นคง
เร่งพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เน้น Green Economy เพื่อสร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพชีวิต ประชากรและทําให้ชุมชนน่าอยู่น่าสร้างครอบครัว ปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่สาธารณะและระบบบริการสาธารณะให้ผู้สูงอายุและคนพิการสามารถใช้ได้อย่าง สะดวกและปลอดภัย
ส่งเสริมธนาคารอุปกรณ์สําหรับคนพิการและผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนกายอุปกรณ์ให้คนพิการ ผู้สูงอายุและชุมชน พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะที่เอื้อและใส่ใจคนทุกกล่มทุกวัย ส่งเสริมสื่อสาธารณะที่สร้างสรรค์ในการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวและความเข้าใจระหว่างวัย
และสิ่งที่ต้องทำคือการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบาย และปรับเปลี่ยนนโยบายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยระบบข้อมูลด้านประชากรที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน ปรับปรุงข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคกับการดําเนินงานพัฒนาคน สร้างความมั่นคงของมนุษย์ และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
"และสุดท้ายต้องพัฒนาผู้นําการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) ในทุกระดับ ตั้งแต่รัฐบาล กระทรวง จังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการทั้งหมดให้สําเร็จ"
นายวราวุธ กล่าวว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด-เปลี่ยนวิธีทำ จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาล หรือกี่นายกฯ ก็จะเจอปัญหาแบบเดิมๆแล้วก็ตายหมู่กัน ดังนั้นต้องมองว่า “ประชาชนคนไทย” เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ต้องทำให้เป็นกำลังในการพัฒนาสังคมและพึ่งพาตนเองได้ และต้องทำทันทีในเชิงรุก
“พม.เรากำลังจะเปลี่ยนบทบาทตัวเอง เราจะไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ เราจะทำงานเชิงรุก เราจะทำงานแบบ M Power พร้อมกับเชิญชวนทุกกระทรวงมาเปลี่ยนไปกับกระทรวงพม. เพื่อก้าวข้ามปัญหาลูกนี้ไปได้ ซึ่งเราต้องเปลี่ยนการให้แบบถ้วนหน้า เป็นการให้โอกาสถ้วนหน้าเพราะการจะทำให้คนคนหนึ่งยืนอยู่ในสังคมด้วยลำแข้งและความสามารถตัวเอง ต้องให้เบ็ดตกปลามากกว่าการให้ปลาครับ”