"พิมพ์ภัทรา" ดึง "ภราดัย" ยกระดับศักยภาพอุตฯ โกโก้สู่ไทยโกโก้ฮับอาเซียน

14 มี.ค. 2567 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 04:42 น.

"พิมพ์ภัทรา" ดึง "ภราดัย" ยกระดับศักยภาพอุตฯ โกโก้สู่ไทยโกโก้ฮับอาเซียน เดินหน้าหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มกว่า 8,000 ล้านบาท 

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท (ข้อมูล ณ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว

ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงถือว่าเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมโกโก้ไทยที่จะมีโอกาสเติบโตไปยังตลาดโลก 

และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต แต่โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน 

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ ภราดัย ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทย ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 โดยทาง ภราดัย มีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น GMP GHPs Halal 

"พิมพ์ภัทรา" ดึง "ภราดัย" ยกยกระดับศักยภาพอุตฯ โกโก้สู่ไทยโกโก้ฮับ

การเพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น 

รวมถึงการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยภราดัยจะร่วมมือกับทางภาครัฐ โดยนำจุดแข็งที่ทางภราดัยมีอยู่แล้วมาร่วมถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ (Cupping Cocoa) เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมี่ยมได้ในอนาคต

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อมจะเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมและตรวจประเมินสำหรับยื่นขอการรับรองผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสามารถขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดฮาลาลในอนาคต 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปปรับปรุงเครื่องจักรในกระบวนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปโกโก้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นผ่านโครงการติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้ ซึ่งจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ 

อย่างไรก็ดี ดีพร้อม ยังได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในทุกมิติ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในส่วนของต้นน้ำ ดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกรสู่ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะกระบวนการบ่มหมักเมล็ดโกโก้เพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด 

การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรคลัสเตอร์โกโก้ การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้ เช่น เครื่องผ่าผลสดโกโก้ เครื่องคัดแยกเมล็ดโกโก้ และในส่วนของกลางน้ำ ปลายน้ำ ดีพร้อม จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ ไม่ว่าจะเป็นการนำโกโก้บัตเตอร์มาผ่านกระบวนการทดสอบและตรวจหาสารสำคัญ เช่น กรดไขมันอิสระ (free fatty acid) การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดโกโก้เพื่อให้ได้โกโก้บัตเตอร์ การส่งเสริมการสร้างระบบมาตรฐานต่าง ๆ 

การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ทางทูตอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้นำเมล็ดโกโก้จากจังหวัดพะเยาและนครศรีธรรมราชไปเป็นเป็นตัวอย่างในการทดสอบคุณภาพ ทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายกับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 ตัน และการร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่อจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปโกโก้ 

นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส (Reshape The Accessibility) ด้านการตลาดด้วยการผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (future food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม เช่น กลุ่มอาหารที่ให้ประโยชน์สูงต่อร่างกาย (Super Food) 

โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต เพื่อขยายโอกาสรองรับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ด (Super foods) และเทรนด์คนรักสุขภาพในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ให้มีขีดความสามรถการแข่งขันในระดับเวทีโลกได้มากขึ้น และกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท