โครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย–อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท
โดยรัฐบาลหมายมั่นที่จะให้เป็นอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของประเทศไทย เนื่องจากจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล และมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด” One Port Two Side” และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง และกิจกรรมเชิงพาณิชย์
โดยที่ดำเนินการควบคู่กันไปก็คือ การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร เพื่อรองรับพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับ "นิคมอุตสาหกรรมแลนด์บริดจ์" ของ "ฐานเศรษฐกิจ" ปรากฎว่า
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ส่วน กนอ. จะมีบทบาทในการศึกษาพื้นที่หลังท่าว่ามีส่วนไหนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนนอกเหนือไปจากโครงการท่าเรือ รถไฟ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ซึ่งล่าสุด กนอ. กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา และเริ่มร่างโครงการ โดยอาจจะล่าช้ากว่าโครงการแลนด์บริดจ์ในภาพรวม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งหาที่ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมทุน
อย่างไรก็ดี คาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 6-8 เดือน หรือภายในปีนี้น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น
"โครงการแลนด์บริดจ์โดยรวมเวลานี้กำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการหานักลงทุนเข้ามาร่วมทุน ดูพื้นที่ และการปรับสภาพพื้นที่"